แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์ไม่ได้ระบุในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เขียนเช็ค มอบ ให้โจทก์วันใด และที่ใด เป็นค่าอะไรก็ตาม แต่ โจทก์ได้ บรรยายวันเดือน ปีที่ลงในเช็ค อัน เป็นวันที่ถึง กำหนดต้อง ชำระเงินซึ่ง ถือ ว่าเป็นวันออกเช็คตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 3และได้ ระบุสถานที่เกิดเหตุไว้แล้ว ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2 มอบเช็ค ให้โจทก์ที่ใด เป็นการชำระหนี้ ค่าอะไรเป็นรายละเอียดที่จะต้อง นำสืบกันในชั้นพิจารณา หาใช่ สาระสำคัญที่โจทก์จำเป็นต้อง กล่าวในฟ้องไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็น ฟ้องที่ชอบด้วยป.วิ.อ. มาตรา 158(5) โจทก์บรรยายฟ้องว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่21 พฤศจิกายน 2528 จำเลยอ้างว่าหลงต่อสู้อ้างใบคืนเช็ค เพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรกในวันที่18 พฤศจิกายน 2528 ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ธนาคาร ปฏิเสธการจ่ายโดย ให้เหตุผลว่า “ยังรอเรียกเก็บอยู่ โปรดนำ มายื่นใหม่”โจทก์จึงมีสิทธินำเช็ค พิพาทไปเรียกเก็บเงินได้ อีก เมื่อธนาคารตามเช็ค ปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2528 อีกโดย ให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อ ผู้สั่งจ่าย ทั้งในวันที่ลงใน เช็ค พิพาทปรากฏว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย คำฟ้องของโจทก์ ที่เกี่ยวกับเช็ค พิพาทจึงตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา หาได้แตกต่าง ไปจากคำฟ้องของโจทก์ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นกรรมการ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2528 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาจารุเมือง เลขที่0058046 และ 0058047 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528 และวันที่ 15ธันวาคม 2528 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 50,000 บาท และเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางเขน เลขที่ 7068818 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน2528 สั่งจ่ายเงิน 30,425 บาท เลขที่ 7068819 ลงวันที่ 15 ธันวาคม2528 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท และเลขที่ 7068820 บาท ลงวันที่ 20ธันวาคม 2528 สั่งจ่ายเงิน 106,000 บาท ซึ่งเช็คทั้ง 5 ฉบับ ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และลงลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3ในช่องผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้นำเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์ได้นำเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528,16 ธันวาคม 2528, 21 พฤศจิกายน 2528, 16 ธันวาคม 2528 และ20 ธันวาคม 2528 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น เหตุเกิดที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และแขวงลาดยาวเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วคดีมีมูลมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดสำหรับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2, จ.4 และ จ.10 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เช็คพิพาทเอกสารหมายจ.2, จ.4 จำคุกกระทงละ 3 เดือน เช็คพิพาทเอกสาร จ.10 จำคุก6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.6และ จ.8 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดสำหรับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8 ด้วย ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ3 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 18เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8 มอบให้โจทก์ และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9 ในวันสั่งจ่ายเงินเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็ค
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) นั้น เห็นว่าแม้โจทก์ไม่ได้ระบุในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เขียนเช็คมอบให้โจทก์วันใดและที่ใดเป็นค่าอะไรก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายวันเดือนปีที่ลงในเช็คอันเป็นวันที่ถึงกำหนดต้องชำระเงิน ซึ่งถือเป็นวันออกเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 และได้ระบุสถานที่เกิดเหตุไว้แล้ว ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2 มอบเช็คให้โจทก์ที่ใดเป็นการชำระหนี้ค่าอะไร ก็เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันในชั้นพิจารณา หาใช่ข้อสาระสำคัญที่โจทก์จำเป็นต้องกล่าวในฟ้องไม่ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เกี่ยวกับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.6 โจทก์บรรยายฟ้องว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน2528 เป็นเหตุให้ จำเลยที่ 2 หลงต่อสู้ต้องอ้างใบคืนเช็คเอกสารหมาย ล.3 เพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรกในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 ศาลชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสามนั้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 รับว่าได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.6จริง และธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินจริง ในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายดำรงศักดิ์ ศรีโสภา สมุห์บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางเขน พยานโจทก์ว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “ยังรอเรียกเก็บอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่”โจทก์จึงมีสิทธินำเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.6 ไปเรียกเก็บเงินได้อีกเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2528อีกโดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ทั้งในวันที่ลงในเช็คพิพาทข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า เงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย คำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.6 จึงตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาหาได้แตกต่างไปจากคำฟ้องของโจทก์ไม่…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับเช็คพิพาทเอกสารหมายจ.6 และ จ.8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.