คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผ. กับจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยจำนวน 2,000 ส่วน โดยจำเลยเสียค่าตอบแทน แต่ความจริง ผ. ได้โอนกรรมสิทธิ์ยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อลวงไม่ให้บิดาโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ผ. ทราบ ถือได้ว่า ผ. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งก็คือนิติกรรมซื้อขายที่ดินไว้กับจำเลยเป็นการอำพรางการยกให้นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาให้ที่ถูกอำพรางไว้นั้นต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 155 วรรคสอง เมื่อ ผ. มีเจตนาทำสัญญาให้ที่ดินจำเลยแล้ว การที่ ผ. จดทะเบียนบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงแต่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ผ. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายแฉล้มกับนางผวน จันทาวี มีบุตรชอบด้วยกฎหมายคือนายธีระพลหรือสมพล จันทาวีหรือจันทวี ซึ่งจดทะเบียนสมรสกับนางเพชรัตน์ มีบุตรชอบด้วยกฎหมายคือโจทก์ทั้งสี่ นายธีระพลบิดาโจทก์ทั้งสี่ นางมาลี สุขสำราญ นางสาวซุ่ยจู แซ่ตั้ง นางพริ้ง พรบังเกิด และนางผวนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2837 โดยนางผวนเป็นเจ้าของรวมจำนวน 7,740 ส่วน หรือ 19 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 นางผวนทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ที่ดินดังกล่าวและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยจำนวน 2,000 ส่วน หรือ 5 ไร่ โดยจำเลยให้ค่าตอบแทนจำนวน 1,600,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาให้ที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนเพื่อลวงไม่ให้บิดาโจทก์ทั้งสี่รู้ความจริง การจดทะเบียนที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ นายแฉล้มถึงแก่กรรมนานแล้ว นายธีระพลถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2542 ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2544 นางผวนถึงแก่กรรม ขอให้พิพากษาให้นิติกรรมเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ที่ดินโฉนดเลขที่ 2837 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 2,000 ส่วน ระหว่างนางผวน จันทาวี กับจำเลยลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 เป็นโมฆะและให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนในวันดังกล่าวด้วย
จำเลยให้การว่า นางผวนทำบันทึกข้อตกลง (มีค่าตอบแทน) ที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูนางผวนซึ่งเป็นพี่สาวของนางพริ้งมารดาจำเลยเป็นเวลา 30 ปีเศษ ส่วนจำนวนเงิน 1,600,000 บาท เป็นราคาประเมินที่ดินเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าอากรในการจดทะเบียน บันทึกข้อตกลงตามฟ้องจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบี้องต้น จำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นให้รวมสั่งในคำพิพากษาและเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ว่า นิติกรรมที่นางผวน จันทาวี ยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า นางผวนกับจำเลยได้ทำนิติกรรมตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์ (มีค่าตอบแทน) ที่ดินพิพาทตามฟ้องและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยจำนวน 2,000 ส่วน หรือ 5 ไร่ โดยจำเลยเสียค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวน 1,600,000 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ซึ่งโจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนจำนวนเงินดังกล่าวแก่นางผวน และนางผวนก็ไม่ได้แบ่งขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลย ความจริง นางผวนได้โอนกรรมสิทธิ์ยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทน เหตุที่นางผวนทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) และจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยเพื่อลวงไม่ให้บิดาโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรของนางผวนทราบความจริงนั้น ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์อ้าง ก็ถือได้ว่านางผวนทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ซึ่งก็คือนิติกรรมซื้อขายที่ดินไว้กับจำเลยเป็นการอำพรางการยกให้ การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น นิติกรรมดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาให้ที่ถูกอำพรางไว้นั้นต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 155 วรรคสอง เมื่อนางผวนมีเจตนาทำสัญญาให้ที่ดินจำเลยแล้ว การที่นางผวนจดทะเบียนบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงแต่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่ ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) นั้นเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมให้ที่ดินพิพาทระหว่างนางผวน จันทาวี กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share