คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1870/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้าราชการกรมชลประทานที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับมอบงานจ้างตัดไม้ในบริเวณที่ทำเขื่อน ไม่มีหน้าที่รักษาเขื่อน ลงชื่อในหนังสือรับมอบงานโดยไม่ได้ไปตรวจสอบงาน แต่ไม่ปรากฏว่าทุจริตต่อไม้และต้นไม้ที่ถูกตัดคงเหลืออยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำไม่ทำให้น้ำเน่าเขื่อน และอ่างเก็บน้ำไม่เสียหาย ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 151,157 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 162 เฉพาะตัวผู้รับเงินจากผู้รับจ้างเป็นทุจริต เป็นความผิดตาม มาตรา 157 สัญญาจ้างทำ 3 คราว 52 ฉบับ เป็นเพียงวิธีการแต่ผู้รับจ้างมีรายเดียวเป็นเจตนาเดียว เป็นความผิดกรรมเดียว
บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานรับเงินที่จ่ายแก่ผู้มีชื่อในใบรับเงินไปบางส่วน เพราะโจทก์ไม่รู้ว่าส่วนที่รับไปนั้นเป็นจำนวนเท่าใด ถือเป็นการบรรยายที่ถูกต้องแล้วไม่เคลือบคลุม
พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาอื่นแก่ผู้ต้องหา แต่ปรากฏความผิดฐานอื่นในเรื่องที่เกี่ยวหรือสืบเนื่องมาจากการกระทำผิดในคราวเดียวกัน ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานอื่นแล้ว อัยการฟ้องฐานอื่นนั้นได้
ผู้ใช้ให้ทำผิดตาม มาตรา 84 โจทก์ไม่ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเป็นตัวการ แต่ขอให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุน ก็ลงโทษตาม มาตรา 86 เบากว่าตัวการได้ ไม่ถือว่าต่างกับฟ้อง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 86 2 ปี จำเลยนอกนั้นจำคุกคนละ 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุกจำเลยนอกนั้นตามมาตรา 157 และจำเลยที่ 4 ตามมาตรา 86 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ตายระหว่างอุทธรณ์ โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “การที่ต้นไม้ที่ถูกตัดฟันยังคงมีหลงเหลืออยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ตอไม้ที่เหลือสูงกว่า 50 เซนติเมตร จะทำให้น้ำในอ่างเน่าหรือเป็นอันตรายต่อเขื่อนหรือไม่ หากว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำเน่าหรือเป็นอันตรายต่อเขื่อนแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่น่าจะตกลงกับอธิบดีกรมชลประทานเช่นนั้น เพราะจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง ทั้งไม่ปรากฏว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำจะเน่าหรือเขื่อนจะเป็นอันตรายแต่ประการใดการที่จำเลยที่ 1 ละเว้นไม่ถือปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้ครบถ้วน จึงไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด คงเป็นแต่เพียงข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ไม่อ่านสัญญาให้เข้าใจว่า ผู้รับจ้างจะต้องทำอะไรบ้าง

ส่วนคณะกรรมการตรวจรับมอบงานคือจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งนำสืบรับว่า ไม่ได้ตรวจรับงานทุกแปลงนั้น เฉพาะจำเลยที่ 5 ที่ 6 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ได้ร่วมรู้เห็นในการปลอมแปลงตัวผู้รับจ้างการลงชื่อรับมอบงานโดยไม่ได้ไปตรวจงานตามหน้าที่ก็ไม่มีพยานหลักฐานว่าได้กระทำไปโดยทุจริต ผลการตรวจสอบการตัดฟันไม้ที่ว่าไม่ได้มีการตัดฟันไม้ในบางแปลงก็ได้วินิจฉัยมาแล้วว่ารับฟังไม่ได้ ความเสียหายของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำก็ไม่มีการกระทำของจำเลยที่ 5 ที่ 6 จึงไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต แต่จำเลยทั้งสามมีหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับมอบงานจากผู้รับจ้าง ได้ทำบันทึกการตรวจรับมอบงานว่าได้ตรวจรับเป็นการถูกต้องแล้ว อันเป็นความเท็จ เพราะจำเลยทั้งสามไม่ได้ไปตรวจรับมอบงานทุกแปลงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162

คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปเฉพาะตัวจำเลยที่ 3 ซึ่งปรากฏว่าได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้สั่งจ่ายเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2510รวม 3 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.89 ถึง จ.91 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 332,060 บาท และนางสมพิศ จูงพล ภรรยาจำเลยที่ 3 ได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 4 สั่งจ่ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2411 อีก 7 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.92 ถึง จ.98เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 134,750 บาท

จำเลยที่ 3 นำสืบว่า เคยรับเช็คจากจำเลยที่ 4 เป็นค่าถางป่าเช็คตามเอกสารหมาย จ.89 ถึง จ.91 เป็นเช็คที่นายสมคิดระบุให้จ่ายให้หัวหน้าป่าซึ่งนายสมคิดควบคุม และจำเลยเป็นผู้สลักหลัง ส่วนเช็คที่ภรรยาจำเลยที่ 3รับเงินจากธนาคาร เป็นเช็คที่นายสมคิดฝากภรรยาจำเลยที่ 3 ไปรับเงินจากธนาคาร เมื่อภรรยาจำเลยที่ 3 เดินผ่านบ้านนายสมคิด

ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คดังกล่าวทุกฉบับมีหลักฐานปรากฏชัดอยู่ว่าจำเลยที่ 4สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ และจำเลยที่ 3 กับภรรยาเป็นผู้ลงชื่อรับเงินที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่านายสมคิดฝากเช็คให้ภรรยาจำเลยที่ 3 รับเงินแทนตามคำเบิกความของนายสมคิดไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว บ้านนายสมคิดก็อยู่ห่างธนาคารเพียง200 เมตร และเงินก็เป็นจำนวนมาก ไม่มีเหตุผลที่นายสมคิดจะฝากเช็คให้ภรรยาจำเลยที่ 3 รับเงินแทน จำเลยที่ 3 ก็เบิกความรับอยู่ว่า เคยรับเช็คจากจำเลยที่ 4เป็นค่าถางป่า และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีเหตุอื่นใดที่ต้องจ่ายเงินให้จำเลยที่ 3กับภรรยา จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ไปตรวจรับมอบงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากจำเลยที่ 4 เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เพราะจำเลยที่ 3 มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตแก่ทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษา ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ปลอมเอกสารต่าง ๆ ตามรายละเอียดในฟ้องนั้น ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบ ผู้ที่ร่วมกันปลอมเอกสารคือ นางสาวบุญถิ่น ดีมีวงษ์กับนางฉวี อินวกูล โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ใช้ ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกระทำผิดด้วย การกระทำอื่นใดของจำเลยที่ 3 นอกจากนี้จึงไม่เป็นความผิด

ปัญหาเรื่องการกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่าแม้สัญญาจ้างจะได้ทำกันเป็น 3 คราว เป็นสัญญารวม 52 ฉบับ และการทำเอกสารต่าง ๆ ต้องแยกทำตามสัญญาแต่ละฉบับก็เป็นเพียงวิธีการเท่านั้น เมื่อผู้รับจ้างที่แท้จริงมีจำเลยที่ 4 เพียงรายเดียวเจตนาก็เกิดแต่แรกเพียงครั้งเดียวว่า ทำสัญญาเพื่อนำไปหลอกรับเงินว่าได้รับจ้างตัดฟันไม้แล้วเท่านั้น เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด

ต่อไปศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 4 ที่ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 4 อ้างว่าโจทก์ไม่ได้แนบแผนที่ท้ายสัญญาจ้างเหมาตัดฟันไม้มาพร้อมกับฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถือว่าแผนที่ท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารใด ๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องนั้น โจทก์จะต้องเสนอมาพร้อมกับฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้เสนอแผนที่มาพร้อมกับฟ้อง จะถือว่าแผนที่เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องได้อย่างไร การที่โจทก์มิได้ระบุในฟ้องให้ชัดว่า สัญญาจ้างฉบับใดถางเสร็จแล้ว ฉบับใดยังมิได้ถาง ตลอดจนจำนวนเนื้อที่ที่ถางแล้วและยังมิได้ถางนั้น ล้วนเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ที่โจทก์มิได้ระบุจำนวนเงินที่จำเลยอื่นรับจากจำเลยที่ 4 ให้แน่นอน เพียงแต่บรรยายฟ้องว่ารับไปบางส่วนนั้น เมื่อโจทก์ไม่ทราบจำนวนเงินที่จำเลยอื่นรับจากจำเลยที่ 4 การที่โจทก์บรรยายฟ้องเช่นนั้นก็ถูกต้องแล้ว ส่วนที่ว่าคำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับฐานะของจำเลยที่ 4 ขัดกันเองนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการบริษัทวรวัฒนา จำกัด ได้ทำสัญญารับจ้างเหมาถางป่าตัดฟันไม้ 3 ฉบับ และจำเลยที่ 4 ในฐานะส่วนตัวเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดเกี่ยวกับสัญญารับจ้างเหมาถางป่าตัดฟันไม้อีก 52 ฉบับขึ้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันและไม่เคลือบคลุม

จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 4 ว่าร่วมกับพวกทำเอกสารเท็จและปลอมแปลงเอกสารเท่านั้น และได้สอบสวนเฉพาะความผิดที่แจ้งเท่านั้น ส่วนความผิดในข้อหาหรือฐานอื่นที่ปรากฏในฟ้องพนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาและสอบสวนไว้เลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ในข้อหาที่มิได้แจ้งและสอบสวนไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เดิมพนักงานสอบสวนจะตั้งข้อหาเพียงบางข้อและมีการสอบสวนตามข้อหาที่แจ้งไว้เดิม แต่เมื่อผลการสอบสวนปรากฏว่าเป็นความผิดฐานอื่นในเรื่องที่เกี่ยวหรือสืบเนื่องมาจากการกระทำผิดในคราวเดียวกันนั้นด้วย ก็ถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดฐานอื่นนั้นด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในความผิดฐานอื่นด้วยได้

จำเลยที่ 4 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4 บังคับขู่เข็ญให้นางสาวบุญถิ่นกับนางฉวีทำเอกสารเกี่ยวกับการถางป่าปลอมทั้งหมดซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จึงถือได้ว่า ข้อเท็จจริงแตกต่างกับฟ้องจะลงโทษจำเลยที่ 4 ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192

ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ที่ใช้หรือบังคับขู่เข็ญให้ผู้อื่นกระทำผิดนั้น ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 บัญญัติให้ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษในฐานเป็นตัวการแต่ขอให้ลงโทษในฐานเป็นผู้สนับสนุน ก็ลงโทษในฐานเป็นผู้สนับสนุนซึ่งโทษเบากว่าตัวการได้ ไม่ถือว่าแตกต่างกับฟ้อง” ฯลฯ

“พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 162 ให้ลงโทษตามมาตรา 157 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกนายประชุม จูงพลจำเลยที่ 3 มีกำหนดสามปี นายวิวัฒน์ จิวจินดา จำเลยที่ 5 นายดำรงค์ แก้วสาขาจำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ให้จำคุกคนละหนึ่งปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้องและให้ยกฟ้องนายสมัย สุรวัลลภ จำเลยที่ 1นายประนอม ทรงเจริญจำเลยที่ 7 กับนายนิรัตน์ เจริญยุทธ จำเลยที่ 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share