คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมชลประทานเป็นกรมในรัฐบาล ขึ้นกับกระทรวงเกษตราธิการและเป็นนิติบุคคล เป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงในการทดน้ำไขน้ำ เมื่อมีผู้ละเมิด กรมชลประทานย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้ 2. คำฟ้องที่กล่าวถึงเขตที่ดินที่กันไว้เพื่อการชลประทานโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการฯ และประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดหวงห้ามที่ดินชายทะเลโดยมีแผนที่ประกอบไว้ท้ายฟ้องด้วย นับว่าเป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม 3. ที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตที่ดินของชลประทานจึงเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1306 4. ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 ให้หวงห้ามโดยวิธีการออกพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายบังคับไว้อย่างไร ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐย่อมออกประกาศหวงห้ามที่รกร้างว่างเปล่าไม่ให้ผู้ใดจับจองหรือเข้าถือเอาโดยพลการ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายในที่ใดให้สิทธิราษฎรจับจองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเอาตามชอบใจ 5. ส.ค.1 ไม่เป็นเอกสารแสดงสิทธิอย่างใดตามกฎหมาย (ซ้ำฎีกาที่ 1218/2504)

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณารวมกัน

ใจความโดยย่อของฟ้องทั้งสองสำนวนก็คือ เมื่อ พ.ศ. 2467 ได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเรื่องขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยตอนใต้ (ตำบลคลองด่าน) เพื่อประโยชน์แห่งการชลประทานมีอาณาเขตตามแนวเส้นสีแดงในแผนที่ท้ายประกาศ ฯลฯ จำเลยได้บุกรุกเข้ามาทางทิศใต้ของคันกั้นน้ำเค็ม (ปัจจุบันเป็นถนนสุขุมวิท) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 45-46 หมู่ที่ 6 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ คือ นางยาใจจำเลยบุกรุก 11 ไร่ ปรากฏตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายสีเขียว นายกระจ่างจำเลยบุกรุก 11 ไร่ ปรากฏตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายสีแดง ขอให้ศาลขับไล่

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้หลายประการและตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องเคลือบคลุม คดีขาดอายุความ

ศาลจังหวัดสมุทรปราการวินิจฉัยว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม และโจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งสงวนไว้ใช้ในการชลประทานเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินการครอบครองของจำเลยใช้ยันโจทก์ไม่ได้ จึงพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารห้ามเกี่ยวข้องต่อไป

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า

1. เมื่อกรมชลประทานเป็นกรมในรัฐบาลขึ้นกับกระทรวงเกษตรและเป็นนิติบุคคล เป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงในการทดน้ำ ไขน้ำ เมื่อมีผู้ละเมิด กรมชลประทานก็มีอำนาจฟ้องขับไล่ได้

2. คำฟ้องได้กล่าวถึงเขตที่ดินที่กันไว้เพื่อการชลประทาน โดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการฯ และประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการหวงห้ามที่ดินชายทะเล โดยมีแผนที่ประกอบไว้ท้ายฟ้องด้วยเช่นนี้ นับว่าเป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม

3. พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินซึ่งกรมชลประทานกันเขตไว้ ฟังไม่ได้ว่าอยู่ในเขตใบไต่สวนหมาย จล.1

4. ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของชลประทาน จึงเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อกรมชลประทานได้ปักหลักกันเขตที่ดินไว้เพื่อใช้ในการชลประทานนั้น ที่ดินที่พิพาทนี้ได้มีผู้เข้าครอบครองอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ แล้วศาลฎีกาฟังว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตหวงห้ามตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการเรื่องขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำ ไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อย และบ้างเหี้ย กับประกาศผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการลงวันที่ 5 ตุลาคม 2472 ให้หวงห้ามที่ดินในบริเวณนั้นไว้เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะทางราชการ

ข้อที่จำเลยโต้แย้งว่า ประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการใช้ไม่ได้ เพราะขัดกับกฎหมายต่าง ๆ เช่นพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ตามธรรมดารัฐย่อมจัดใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันได้ วิธีการที่จะหวงห้ามนั้น เพิ่งมาบัญญัติเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับเมื่อพ.ศ. 2478 โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ซึ่งให้หวงห้ามโดยวิธีการออกพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนหน้านั้นหามีกฎหมายบังคับไว้อย่างไรไม่ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้แทนส่วนหนึ่งของรัฐย่อมออกเป็นประกาศหวงห้ามที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ให้ผู้ใดจับจองหรือเข้าถือเอาโดยพลการได้ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายในที่ใดที่จะให้สิทธิแก่ราษฎรให้จับจองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเอาตามใจชอบได้

ปัญหาจึงมีแต่เพียงว่า เมื่อกรมชลประทานได้ปักหลักเขตที่ดินไว้เพื่อใช้ในการชลประทานนั้น ที่ดินที่พิพาทนี้ได้มีผู้ครอบครองอยู่หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การครอบครองที่จำเลยอ้างว่าได้มีตลอดมานั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นเค้าแห่งการครอบครองแต่ประการใด นอกจากว่าได้เคยแจ้งการครอบครองแบบ ส.ค.1 ซึ่งไม่เป็นเอกสารแสดงสิทธิอย่างใดตามกฎหมาย จำเลยอ้างอิงความสำคัญอยู่ที่ใบไต่สวนเลขที่ 40(เอกสารศาลหมาย จล.1) ปรากฏว่ามีที่ดิน 32 ไร่ เป็นของอำแดงเปล่ง บุตรนายสิน อำแดงเน้ย แต่นางสาวเปล่งพยานจำเลยเบิกความยืนยันว่าที่พิพาทนี้เดิมเป็นของนางสุดยกให้พยานเมื่อ 40 ปีมาแล้ว ได้ขายฝากนางชื่น และต่อมาเมื่อ 4 ปีนี้ตกลงขายให้จำเลยทั้ง 2 และนายสัญญาจึงไปไถ่มาจากนางชื่น โอนให้คนทั้งสาม เมื่อนางสาวเปล่ง เดชฤทธิกร มาเบิกความยืนยันว่าตนเป็นผู้ถือใบไต่สวนที่พิพาทมาตั้งแต่ ร.ศ.129 แล้วเหตุใดจึงมิได้ทราบเรื่องที่มีการจดทะเบียนโอนขายให้แก่นางชื่นรูปเรื่องยังจะปลงใจเชื่อไม่ได้ว่านางสาวเปล่งเป็นคน ๆ เดียวกับอำแดงเปล่ง (และศาลฎีกาได้กล่าวถึงความพิรุธของใบไต่สวน จล.1 นานาประการ) ศาลฎีกาเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าที่พิพาทเป็นที่มีใบไต่สวนแล้วนั้นฟังไม่ได้

ศาลฎีกาชี้ขาดว่า ที่พิพาทเป็นที่ป่าแสมไม่มีเจ้าของกรมชลประทานได้เข้ากันเขตไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อการชลประทานอันเป็นสาธารณประโยชน์โดยชอบแล้ว ข้อโต้แย้งอื่นของจำเลยฟังไม่ขึ้นดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้ว พิพากษายืน

Share