แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมออกจากตึกแถวที่เช่าจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เท่ากับค่าเช่าเดือนละ 16,000 บาท จนกว่าจะออกจากตึกแถวแต่จำเลยที่ 3 เป็นคู่สัญญาเช่าช่วงกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิให้เช่าช่วง จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในตึกแถวตามสัญญาเช่าช่วง เมื่อค่าเสียหายดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาเช่ากับโจทก์ จำเลยที่ 3 มิได้เป็นสัญญาเช่ากับโจทก์แต่เป็นเพียงบริวารของผู้เช่า จึงไม่ต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถว4 ห้อง เลขที่ 130/5 ถึง 130/8 จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์และจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 790/2527 ของศาลชั้นต้น โดยโจทก์ตกลงให้จำเลย ที่ 1 เช่าที่ดินและตึกแถวทั้ง 4 ห้องดังกล่าว มีกำหนด 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ในอัตราค่าเช่ารวมกันเดือนละ 16,000 บาท ชำระค่าเช่าภายในวันที่10 ของทุกเดือน หากค้างชำระค่าเช่าเกิน 2 เดือน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ต่อมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2527 จนถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2528ไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ไม่มีบุคคลใดยอมรับ วันที่23 เมษายน 2528 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 790/2527 ของศาลชั้นต้น ขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการบอกเลิกการเช่าโดยชอบ แล้ว แต่จำเลยและบริวารยังมิได้ออกไป ทำให้โจทก์ขาดผลประโยชน์ ที่จะได้จากที่ดินและตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึง เดือนสิงหาคม 2528 เป็นเงิน 64,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงตึกแถว ชั้นที่สามทั้ง 4 ห้องดังกล่าวภายหลังจากที่โจทก์บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้วโดยไม่มีสิทธิ ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ทุบเสา รื้อพื้นคาน เปลี่ยนแปลงภายในอาคารชั้นที่ 3 โดยไม่มีสิทธิ ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินประมาณ 40,000 บาท นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เป็นส่วนถาวรของอาคารดังกล่าวเช่นทุบคานซีเมนต์บนเพดานซึ่งเป็นส่วนรองรับน้ำหนักที่สำคัญของตึกแถวแต่ละชั้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันเป็นการทำละเมิดให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคาร และที่ดินของโจทก์หรือให้โจทก์มีสิทธิเข้าขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าว ออกไปโดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์จำนวนเงิน 64,000 บาท กับ ค่าเสียหายจำนวนเงิน 30,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ ค่าเสียหายจำนวนเงิน 40,000 บาท แก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสาม ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเดือนละ 16,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนถึงวันที่ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปแล้วเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า สัญญาเช่ามีผลบังคับนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นต้นไปจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงอาคารได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ก่อน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาเช่าช่วงอาคารจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาทให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องหย่าโจทก์และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1และที่ 2 เช่าที่ดินและตึกแถว 4 ห้องตามฟ้อง ซึ่งตกเป็นทรัพย์สินของโจทก์ มีกำหนด 8 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2534 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 16,000 บาท ตามสัญญาเช่าที่ดินและสัญญาเช่าตึกแถวเอกสารหมาย จ.12 และ จ.12/1โดยโจทก์จะไปจดทะเบียนการเช่าให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายใน15 วัน นับแต่วันทำสัญญาเช่าปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 790/2527 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วแต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้จดทะเบียนการเช่า
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้าย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้ที่ดินและตึกแถวพิพาทแก่โจทก์ 64,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเดือนละ 16,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกจากตึกแถวพิพาทนั้น เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมออกจากตึกแถวพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เท่ากับค่าเช่าเดือนละ16,000 บาท นับแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2528 เป็นเงิน64,000 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะออกจากตึกแถวพิพาท ส่วนจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 16,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สัญญาเช่าช่วงกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิให้เช่าช่วงจำเลยที่ 3ก็ไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในตึกแถวพิพาทตามสัญญาเช่าช่วงค่าเสียหาย เดือนละ 16,000 บาท เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาเช่ากับโจทก์ จำเลยที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญาเช่า กับโจทก์แต่เป็นเพียงบริวารของผู้เช่า จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และบริวารออกจากที่ดินและตึกแถวพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 64,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 16,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากตึกแถวพิพาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์