แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การอุทธรณ์การประเมินตามพระราชบัญญัติ ภาษีป้าย ฯมาตรา 30 นั้นใช้บังคับเฉพาะผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องเมื่อจำเลยให้เช่าที่ดินที่ป้ายโฆษณาติดตั้งอยู่เสียแล้วจำเลยก็ไม่ใช่ผู้ครอบครองป้ายไม่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะอุทธรณ์การประเมินแม้จำเลยจะรับสารภาพให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับในข้อหาจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก็ไม่เป็นเหตุให้ฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระภาษีบำรุงท้องที่และภาษีป้ายรวมทั้งเงินเพิ่ม จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ส่วนฎีกาจำเลยเรื่องภาษีป้ายข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยให้นายโสภณแดงสกุล เช่าที่ดินเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาภาพยนตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ตลอดมา ในปี พ.ศ. 2513 และ 2514 นายโสภณ แดงสกุล ก็เป็นผู้เสียภาษีป้าย ในปี พ.ศ. 2515 เจ้าหน้าที่ได้มีหนังสือเตือนนายโสภณ แดงสกุล ให้มาเสียภาษีป้าย นายโสภณ แดงสกุล ได้มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าไม่ได้เป็นเจ้าของป้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ว่าใครเป็นเจ้าของป้ายดังกล่าว ก็ไม่ได้ความว่าใครเป็นเจ้าของป้าย เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งการประเมินให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ป้ายโฆษณาติดตั้งอยู่เป็นผู้เสียภาษีป้าย
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 12 บัญญัติให้เจ้าของป้ายเป็นผู้เสียภาษี ในกรณีที่ไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายและหาตัวผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายไม่ได้ มาตรา 18 ให้ผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี แต่เมื่อจำเลยให้เช่าที่ดินที่ป้ายโฆษณาติดตั้งอยู่เสียแล้ว จำเลยก็ไม่ใช่ผู้ครอบครองป้าย ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายการที่จำเลยไม่อุทธรณ์การประเมินจะฟังว่าการประเมินถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว หรือจะถือว่าจำเลยแสดงตนเป็นเจ้าของป้ายดังกล่าวตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยหาได้ไม่ เพราะการอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 30 นั้น ใช้บังคับเฉพาะผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องเมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะอุทธรณ์การประเมิน เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว แม้จำเลยจะรับสารภาพให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับในข้อหาจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย ก็ไม่เป็นเหตุให้ฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะในข้อหาที่ให้จำเลยชำระภาษีป้าย