คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1868-1869/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงที่จะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น ย่อมมีความหมายว่าลูกหนี้ได้กระทำให้กองทรัพย์สินของตนลดน้อยลงไม่พอที่จะใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ได้ การที่จำเลยนำทรัพย์สินและสิทธิตามประทานบัตรไปร่วมลงทุนเป็นหุ้นในบริษัทผู้ร้องโดยตีราคาเป็นค่าหุ้นของจำเลยเป็นจำนวนเงินซึ่งมีราคามากกว่าจำนวนหนี้ที่มีอยู่ต่อโจทก์ หาทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินพอที่จะใช้หนี้แก่โจทก์อยู่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการฉ้อฉล

ย่อยาว

คดีสองสำนวน ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

มูลกรณีของคดีทั้งสองสำนวนนี้ เนื่องมาจากโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดแร่ดีบุกรวม 165 หาบ เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ บริษัทเถลิงสุทธิ์ จำกัด จึงยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเป็นของผู้ร้อง มิใช่เป็นของจำเลย ผู้ร้องเป็นผู้ขุดมาจากในที่ประทานบัตรของนางปราณี จำเลยซึ่งได้โอนสิทธิในประทานบัตรให้ผู้ร้องแล้ว ขอให้ปล่อยทรัพย์

โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นของนางปราณีจำเลย จำเลยเป็นผู้ขุดแร่นั้นจากเหมืองที่จำเลยเป็นผู้ถือประทานบัตร ผู้ร้องไม่เคยได้รับอนุญาตและไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำเหมืองแร่ หากจะมีการโอนสิทธิตามประทานบัตรก็เป็นการสมยอมกันเพื่อฉ้อฉลโจทก์

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ขุดแร่ตามประทานบัตรของนางปราณีจำเลยโดยนางปราณีจำเลยได้นำประทานบัตรเข้าเป็นหุ้นในบริษัทผู้ร้องแล้ว เมื่อขุดได้ บริษัทผู้ร้องเสียค่าภาคหลวงขนย้ายเอง ขายได้เงินก็ตกเป็นของผู้ร้อง นางปราณีไม่ได้เกี่ยวข้องแร่จึงเป็นของผู้ร้อง การที่นางปราณีจำเลยยอมให้ผู้ร้องขุดแร่จากในที่ประทานบัตรนั้น ไม่เป็นการฉ้อฉล พิพากษาให้ถอนการยึด

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่าบริษัทผู้ร้องดำเนินการขุดแร่และขายแร่ดีบุกเพื่อประโยชน์ของบริษัทผู้ร้องเอง หาได้กระทำแทนจำเลยไม่จำเลยจึงไม่ใช่เจ้าของแร่พิพาท

ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัทผู้ร้องสมคบกับจำเลยทำการฉ้อฉลโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยไม่ได้นำประทานบัตรการทำเหมืองแร่มาวางเป็นประกันเงินกู้ต่อโจทก์ตามข้อตกลง แต่จำเลยกลับนำประทานบัตรไปลงเป็นหุ้นกับบริษัทผู้ร้องนั้น จะฟังว่าเป็นการทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตามมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หาได้ไม่ เพราะนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงที่จะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ย่อมมีความหมายว่าลูกหนี้ได้กระทำให้กองทรัพย์สินของตนลดน้อยลงไม่พอที่จะใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ได้การที่จำเลยนำทรัพย์สิน และสิทธิตามประทานบัตรไปร่วมทุนเป็นหุ้นในบริษัทผู้ร้องโดยตีราคาเป็นค่าหุ้นของจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 996,000 บาท ซึ่งมีราคามากกว่าจำนวนหนี้ที่มีอยู่ต่อโจทก์เช่นนี้ หาทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินพอที่จะใช้หนี้แก่โจทก์อยู่การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการฉ้อฉลฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share