แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยรับมอบเงินจากผู้เสียหายเพื่อซื้อข้าวเปลือกและปอฟอกให้ผู้เสียหายเช่นนี้ แม้จะไม่มีกำหนดเวลาว่าจำเลยจะต้องซื้อเมื่อใด ก็ไม่มีลักษณะเป็นการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 และ 672 เพราะไม่ใช่เป็นการมอบเงินให้เก็บรักษาไว้ในอารักขาของจำเลยแล้วจำเลยจะคืนให้ จริงอยู่จำเลยอาจนำธนบัตรฉบับอื่นหรือเหรียญกษาปณ์อันอื่นไปซื้อได้ แต่นั่นเป็นเพราะธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายด้วยกันตามพระราชบัญญัติเงินตราฯ จะนำธนบัตรฉบับไหนไปซื้อ ก็สมประโยชน์ของผู้เสียหาย และย่อมไม่ใช่การกระทำโดยทุจริตด้วยเหตุนี้เงินจำนวน 15,000 บาท ที่ผู้เสียหายมอบให้จำเลยครอบครอง จึงยังเป็นของผู้เสียหายอยู่จนกว่าจำเลยจะได้ซื้อข้าวเปลือกและปอฟอกให้ผู้เสียหายแล้ว อีกประการหนึ่งการที่จำเลยไม่นำเงินของผู้เสียหายที่ตนครอบครองอยู่ไปซื้อข้าวเปลือกและปอฟอกตามที่ได้รับมอบหมาย บางกรณีอาจเป็นเพียงผิดสัญญาในทางแพ่งได้ก็จริง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่เป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต หากเป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตแล้ว ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก โดยเฉพาะคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวข้างต้นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกเงินจำนวนนี้ไว้เป็นประโยชน์ของจำเลยเอง จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับเงินจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาทไปจากผู้เสียหายโดยผู้เสียหายมอบให้ไปซื้อข้าวเปลือกและปอฟอก แล้วจำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวนนี้ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยเองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ และให้คืนหรือใช้เงิน ๑๕,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
ชั้นแรกจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาแถลงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่ รับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ จำคุก ๖ เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ เพราะให้การรับสารภาพ คงจำคุก ๓ เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑๕,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์ว่า กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยไม่มีความผิด แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิด ก็ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยโดยเด็ดขาดที่จะเลือกหาซื้อข้าวเปลือกและปอฟอกตามที่จำเลยเห็นสมควร กรณีเป็นเรื่องจำเลยรับมอบเงินในฐานะผู้รับฝาก จำเลยใช้สอยอย่างไรก็ได้ ไม่จำต้องเอาเงินที่ได้รับมอบโดยเฉพาะไปซื้อ เมื่อจำเลยเอาเงินของผู้เสียหายไปใช้หมดโดยไม่ซื้อข้าวเปลือกและปอฟอกให้จึงเป็นเรื่องผิดสัญญา ซึ่งผู้เสียหายจะต้องเรียกร้องในทางแพ่งทั้งในข้อรับมอบเงินจำเลยไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด แสดงว่าไม่มีเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้อง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว วินิจฉัยว่า การที่จำเลยรับมอบเงินจากผู้เสียหายเพื่อซื้อข้าวเปลือกและปอฟอกให้ผู้เสียหายเช่นนี้แม้จะไม่มีกำหนดเวลาว่าจำเลยจะต้องซื้อเมื่อใด ก็ไม่มีลักษณะเป็นการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๗ และ๖๗๒ เพราะไม่ใช่เป็นการมอบเงินให้เก็บรักษาไว้ในอารักขาของจำเลยแล้วจำเลยจะคืนให้ จริงอยู่จำเลยอาจนำธนบัตรฉบับอื่นหรือเหรียญกษาปณ์อันอื่นไปซื้อได้ แต่นั่นเป็นเพราะธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายด้วยกันตามพระราชบัญญัติเงินตราฯ จะนำธนบัตรฉบับไหนไปซื้อก็สมประโยชน์ของผู้เสียหาย และย่อมไม่ใช่เป็นการกระทำโดยทุจริต ด้วยเหตุนี้เงินจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท ที่ผู้เสียหายมอบให้จำเลยครอบครองจึงยังเป็นของผู้เสียหายอยู่ จนกว่าจำเลยจะได้ซื้อข้าวเปลือกและปอฟอกให้ผู้เสียหาย อีกประการหนึ่งการที่จำเลยไม่นำเงินของผู้เสียหายที่ตนครอบครองอยู่ไปซื้อข้าวเปลือกและปอฟอกตามที่ได้รับมอบหมายบางกรณีอาจเป็นเพียงผิดสัญญาในทางแพ่งได้ก็จริง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่เป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต หากเป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตแล้ว ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก โดยเฉพาะคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวข้างต้นว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกเงินจำนวนนี้ไว้เป็นประโยชน์ของจำเลยเอง จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น