คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 362, 365, 90, 83 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาดินลูกรังที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 300,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นเงิน 25,800,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทกิตติค้าข้าวพืชผล (1968) จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาดินลูกรังที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 130 ลูกบาศก์เมตร เป็นเงิน 11,180 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัย ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายศรัณพจน์ผู้รับมอบอำนาจไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระยองว่า มีคนลักลอบขุดดินของโจทก์ร่วมในที่พิพาท จำเลยที่ 1 ก็ไปที่สถานีตำรวจในวันเกิดเหตุนั้นเอง อันเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งพันตำรวจตรีมิตรชัย พนักงานสอบสวน ก็เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มาที่สถานีตำรวจ ได้สอบปากคำจำเลยที่ 1 ในฐานะพยานไว้ด้วย จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 2 ได้ขายหน้าดินให้จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างนายวัลลภกับพวกให้ขุดดิน จำเลยที่ 1 ได้แสดงสัญญาซื้อขายหน้าดินให้พยานดูด้วย เรื่องการซื้อขายหน้าดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 นี้ นางสาวกุสุยา ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2542 (ที่ถูก น่าจะปี 2546) จำเลยที่ 2 มาพบจำเลยที่ 1 ที่บ้าน เสนอขายหน้าดินถมให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 150 ไร่ เป็นเงิน 200,000 บาท ให้ตักหน้าดินได้ภายในสามปี ที่ดินตั้งอยู่ที่ตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท พยานเป็นผู้นับเงิน มีการทำสัญญาซื้อขายกัน จึงเป็นการทำสัญญาซื้อขายหน้าดินในลักษณะซื้อขายทรัพย์สินกันตามปกติ จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท ซึ่งมีลักษณะเป็นมัดจำ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 เคยติดต่อขายหน้าดินที่มาบตาพุดให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย แสดงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยทำธุรกิจร่วมกันมาก่อน จำเลยที่ 1 จึงมิได้ระแวงถึงเรื่องการทำสัญญาซื้อขายหน้าดินกับจำเลยที่ 2 ว่า หน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากทำสัญญาซื้อขายหน้าดินกับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ให้นายวัลลภกับพวกขุดดินในที่พิพาทตามสัญญาซื้อขาย อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวกุสุยา ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 อ้างว่าทำสัญญาซื้อขายหน้าดินกับจำเลยที่ 1 แทนนายแอ๊ด ไม่ทราบนามสกุล แต่ในการทำสัญญาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่ากระทำแทนนายแอ๊ดหรือบุคคลอื่น คงมีแต่การบันทึกในสัญญาซื้อขายท้ายสัญญาว่า พี่แอ๊ดพร้อมหมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงอ้างไม่ได้ว่าทำสัญญาซื้อขายแทนนายแอ๊ด จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะอ้างได้อย่างไรว่าทำสัญญาซื้อขายแทนนายแอ๊ด ใบมอบอำนาจให้ทำสัญญาแทนก็ไม่มี นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำนายแอ๊ดมาเบิกความทั้ง ๆ ที่อ้างว่ารู้จักนายแอ๊ด 9 ถึง 10 ปี รู้จักที่อยู่และเคยไปเที่ยวด้วยกันกับนายแอ๊ด ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ขอหมายจับและแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และร่วมกันบุกรุก จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธและอ้างว่าไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 รู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 ก็มิได้ให้การแก่พนักงานสอบสวนมาแต่แรกว่า นายแอ๊ดให้จำเลยที่ 2 มาทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 แทนนายแอ๊ด จำเลยที่ 2 เพิ่งมากล่าวอ้างในชั้นศาลอันเป็นพิรุธ เหตุที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าทำสัญญาซื้อขายที่ดินแทนนายแอ๊ดอาจจะเป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีบ่อดินเป็นของตนเอง จึงอ้างว่านายแอ๊ดเป็นเจ้าของบ่อดิน ซึ่งความจริงแล้วบ่อดินเป็นของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าของบ่อดิน นำหน้าดินของบุคคลอื่นมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนนายวัลลภกับพวกลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 362 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share