แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การไต่สวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 253 วรรคสอง หมายถึงการไต่สวนถึงเหตุที่ทำให้มีการร้องขอให้โจทก์วางเงินซึ่งมีอยู่ 2 เหตุคือโจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาลเหตุหนึ่งหรือถ้า มี เหตุแน่นแฟ้นอันเป็นที่เชื่อ ได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอีกเหตุหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อเหตุที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกขึ้นอ้างเพื่อร้องขอให้โจทก์วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายนั้นจำเลยอ้างเหตุว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล ซึ่งเหตุนี้โจทก์ยอมรับในคำแถลงคัดค้านของโจทก์แล้วว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษโจทก์จึงไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล นอกจากนั้นจากคำแถลงของโจทก์ที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา โจทก์ก็แถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นจำนวน 50,000 บาท จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนอะไรอีก และสำหรับจำนวนเงินที่ศาลจะสั่งให้โจทก์วางประกันนั้น มาตรา 253 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลกำหนดจำนวนเงินรวมตลอดทั้งระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร จึงไม่จำเป็นจะต้องทำการไต่สวนอีกเช่นกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญาและตั๋วเงินเป็นเงินจำนวน 11,286,274 บาท 32 สตางค์ จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด
ก่อนวันชี้สองสถาน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลไทย หากโจทก์แพ้คดีจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่จำเลยเสียไปจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 5,000,000 บาท
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 เป็นเงิน 50,000 บาทตามที่ทนายโจทก์แถลง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 วรรคสอง แล้วมีคำสั่งใหม่ตามที่เห็นสมควร
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาที่ว่า ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ขอให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายหรือไม่นั้น เห็นว่า การไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 วรรคสอง หมายถึงการไต่สวนถึงเหตุที่ทำให้มีการร้องขอให้โจทก์วางเงินซึ่งมีอยู่2 เหตุคือ โจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาลเหตุหนึ่ง หรือถ้ามีเหตุแน่นแฟ้นอันเป็นที่เชื่อได้ว่า เมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอีกเหตุหนึ่ง สำหรับเหตุที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกขึ้นอ้างเพื่อร้องขอให้โจทก์วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายนั้นจำเลยอ้างเหตุว่า โจทกก์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาลซึ่งเหตุนี้โจทก์ยอมรับในคำแถลงคัดค้านของโจทก์แล้วว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษโจทก์จึงไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล นอกจากนี้จากคำแถลงของโจทก์ที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16ตุลาคม 2527 โจทก์ก็แถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นจำนวน50,000 บาท จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนอะไรอีก
สำหรับจำนวนเงินที่ศาลจะสั่งให้โจทก์วางประกันนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลกำหนดจำนวนเงินที่จะให้โจทก์วางประกันรวมตลอดทั้งระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร จึงไม่จำเป็นจะต้องทำการไต่สวนอีกเช่นกัน ศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะกำหนดจำนวนเงินประกันไปตามที่เห็นสมควร เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้กำหนดจำนวนเงินประกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดจำนวนเงินประกันโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์กำหนด ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามมาตรา 161 และอัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นเป็นบางส่วน
พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองศาล ให้โจทก์วางประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 60,000 บาทภายในกำหนดเวลา 1 เดือน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”.