คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1862/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหญิงมีสามี สมัครใจทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่าสัญญากู้ทำขึ้นเพราะถูกบังคับหรือสำคัญผิดก็ย่อมเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้สามีจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมในการกู้เงินก็ไม่ทำให้สัญญากู้ดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกู้เงินของจำเลยไม่ใช่การจัดการเกี่ยวกับสินสมรสที่จะต้องให้สามีจำเลยยินยอม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 23,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับตั้งแต่จำเลยกู้เงินไปจำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ย และเมื่อครบกำหนดชำระเงินต้น จำเลยก็ไม่ได้ชำระขอให้บังคับให้จำเลยใช้เงินจำนวน 23,862.50 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 23,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินตามฟ้องจำเลยเป็นหญิงมีสามีแต่ในสัญญากู้ไม่ปรากฏว่าสามีจำเลยให้ความยินยอม สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยใช้เงินจำนวน 23,862.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 23,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นให้จำเลยลงลายมือชื่อและนามสกุลของจำเลยต่อหน้าศาล จำนวน 5 แผ่นเพื่อส่งไปให้กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจทำการเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือสัญญากู้ตามที่ท้ากัน จำเลยน่าจะเขียนในลักษณะการเขียนหวัดเช่นเดียวกับลายมือชื่อที่ปรากฏในหนังสือสัญญากู้ ไม่น่าจะเขียนแบบตัวบรรจงและประดิษฐ์ตัวอักษรการที่จำเลยเขียนชื่อและนามสกุลแบบตัวบรรจงและประดิษฐ์ตัวอักษรเช่นนี้จึงเป็นพิรุธ แสดงว่าจำเลยประสงค์จะให้แตกต่างไปจากลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ส่วนโจทก์มีตัวโจทก์และนายวิวาดผู้เขียนและพยานในหนังสือสัญญากู้ดังกล่าวเป็นพยาน ต่างเบิกความว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญาดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเป็นหญิงมีสามีสามีจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมในการกู้เงินรายนี้ สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยทำสัญญากู้โดยสมัครใจและไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกบังคับหรือสำคัญผิดแต่อย่างใด สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายการที่สามีจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์นั้น เห็นว่าการกู้เงินของจำเลยไม่ใช่การจัดการเกี่ยวกับสินสมรสที่จำเลยจะต้องให้สามียินยอม จึงไม่ทำให้สัญญากู้ยืมดังกล่าวกลายเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืนให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 600 บาท.

Share