คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1859/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่จำเลยให้การว่าโจทก์ได้กระทำการอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตน ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงจงใจขัดคำสั่งหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของโจทก์ นั้น จำเลยมิได้แสดงข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ได้กระทำการอย่างไร หรือขัดคำสั่งหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานในเรื่องใด เป็นคำให้การไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ไม่มีประเด็นที่จำเลยนำสืบ ส่วนคำให้การเรื่องข่มขู่อาฆาตจะทำร้ายหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของโจทก์และข่มขู่จะทำความเสียหายแก่เครื่องจักรของจำเลย มีความหมายอยู่ในตัว โจทก์ย่อมเข้าใจ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การว่า การข่มขู่กล่าวด้วยถ้อยคำอย่างไรก็เป็นรายละเอียดซึ่งอาจนำสืบได้ คำให้การของจำเลยข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทสำหรับคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่เคยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าข้อตกลง หากทำเกินข้อตกลง จำเลยก็ได้จ่ายค่าทำงานดังกล่าวไปแล้ว เป็นคำให้การที่ปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง จึงมีประเด็นข้อพิพาท แม้จำเลยจะมิได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุแห่งการปฏิเสธอันทำให้ไม่มีสิทธิสืบหักล้าง แต่โจทก์ก็มีหน้าที่สืบให้สมฟ้อง จะอ้างว่าจำเลยยอมรับตามฟ้องโดยโจทก์ไม่ต้องสืบพยานหาได้ไม่.
แม้สัญญาจ้างจะกำหนดให้โจทก์ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงก็ตามเป็นเพียงคู่สัญญาตกลงกำหนดจำนวนชั่วโมงในการทำงานสำหรับวันหนึ่ง ๆ ไว้เท่านั้นกำหนดเวลาดังกล่าวอาจเป็นกำหนดเวลาทำงานตามปกติของลูกจ้างทั้งหมดก็ได้หรืออาจรวมทั้งกำหนดเวลาที่นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างด้วยก็ได้ เมื่อสัญญาจ้างข้อหนึ่งกำหนดว่า เวลาทำงานที่เกินวันละ 8 ชั่วโมงให้ได้รับค่าล่วงเวลา เวลาที่เกินนี้จึงเป็นการทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติค่าล่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ไม่ต้องนำมารวมกับค่าจ้างพื้นฐาน เพื่อคำนวณเงินประเภทต่าง ๆ
โจทก์ข่มขู่จะก่อวินาศกรรมแก่เครื่องจักรกลของจำเลยนั้นไม่ปรากฏระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดเป็นความผิดหรือโทษไว้ คงมีเฉพาะกรณีที่โจทก์ข่มขู่จะทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลย ที่ระบุว่า ‘ข่มขู่ลูกจ้างอื่น’ ซึ่งกำหนดโทษลูกจ้างผู้กระทำผิดไว้หลายระดับ เช่น ตักเตือน ลดเงินเดือนพักงาน หรือไล่ออกจากงาน มิได้กำหนดโทษขั้นไล่ออกจากงานไว้สถานเดียว แสดงว่า แม้ลูกจ้างกระทำผิดดังกล่าวจำเลยก็มิได้ถือเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรงอย่างเดียวจึงได้กำหนดโทษไว้หลายระดับ ทั้งการที่โจทก์กล่าวคำข่มขู่ดังกล่าวก็เพียงเพื่อยับยั้งมิให้จำเลยจัดส่งโจทก์ไปทำงานที่อื่น หามีเจตนาที่จะกระทำการตามที่ข่มขู่ การกระทำของโจทก์ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) และไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกกล่าวล่วงหน้า.
ตามสัญญาจ้างซึ่งกำหนดเงินเดือนพื้นฐานเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ‘เดือน’ ไว้ว่า ให้หมายถึงระยะเวลาซึ่งเริ่มต้นในวันแรกของเดือนใด ๆ ในปฏิทินและสิ้นสุดในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ ตามปฏิทินดังนั้น เงินเดือนพื้นฐานซึ่งจำเลยจะจ่ายเป็นรายเดือนเต็มจำนวนให้แก่โจทก์นั้นโจทก์ต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยเต็มเดือน กรณีที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยไม่เต็มเดือน เงินเดือนพื้นฐานย่อมลดลงตามส่วน แม้โจทก์จะทำงาน 14 วัน หยุด 14 วันและในเดือนที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโจทก์ทำงานครบ 14 วันแล้วก็ตาม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างพื้นฐานเต็มเดือน เพราะสัญญาจ้างมิได้กำหนดให้สิทธิแก่โจทก์เช่นนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๑,๐๐๓ บาท มีข้อตกลงว่าจำเลยจะให้โจทก์ทำงานเพียงเดือนละ ๑๔ วัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และให้โจทก์ทำงานเกินกว่าข้อตกลงเดือนละ ๑ วัน จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ในเดือนที่โจทก์ออกจากงานโจทก์ทำงานครบ ๑๔ วันตามข้อตกลงจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเต็มเดือน ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย กับออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๒,๑๓๐ บาทส่วนเงินนอกนั้นเป็นค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดซึ่งจะนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินประเภทต่าง ๆ ไม่ได้ สาเหตุที่จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ได้กระทำการอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยกระทำไม่ถูกต้องและไม่สุจริต ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์จงใจขัดคำสั่งหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของโจทก์ ข่มขู่อาฆาตจะทำร้ายร่างกายบุคคลดังกล่าว ข่มขู่จะทำความเสียหายแก่เครื่องจักรของจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยไม่เคยให้โจทก์ทำงานเกินจำนวนวันทำงานตามข้อตกลง หากโจทก์ได้ทำงานเกินกว่าข้อตกลงจำเลยก็จ่ายค่าทำงานไปวันนั้น ซึ่งมีอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดให้แล้วค่าจ้างประจำเดือนที่โจทก์ออกจากงานโจทก์มีสิทธิ์คิดได้ถึงวันเลิกจ้างเท่านั้น
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างถึงวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างในอัตราค่าจ้างพื้นฐานเดือนละ ๑๒,๑๓๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี กับให้ออกหนังสือรับรองการทำงาน คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้กระทำการอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยกระทำไม่ถูกต้องและไม่สุจริต ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์จงใจขัดคำสั่งหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของโจทก์นั้น จำเลยมิได้แสดงข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ได้กระทำการอย่างไรหรือขัดคำสั่งหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานในเรื่องใด ซึ่งเป็นความผิดตามข้อกล่าวหา โจทก์ย่อมไม่สามารถทราบได้ว่า ได้กระทำการอะไรบ้างซึ่งเป็นความผิดตามข้อกล่าวหา จำเลยจะอ้างแต่ฐานความผิดในคำให้การหาได้ไม่ คำให้การของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ จึงไม่มีประเด็นซึ่งจำเลยจะนำสืบ ส่วนคำให้การที่ว่าโจทก์ข่มขู่ว่าอาฆาตจะทำร้ายร่างกายหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของโจทก์และข่มขู่จะทำความเสียหายแก่เครื่องจักรของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงที่มีความหมายอยู่ในตัว การข่มขู่ด้วยถ้อยคำอย่างไรเป็นรายละเอียดซึ่งอาจนำสืบได้ คำให้การดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาทส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ในประเด็นว่าจำเลยค้างค่าจ้างโจทก์ไม่เพียงใดนั้นว่า จำเลยไม่เคยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าข้อตกลง หากโจทก์ได้ทำงานเกินกว่าข้อตกลงจำเลยก็ได้จ่ายค่าทำงานในวันนั้น ซึ่งมีอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์แล้ว คำให้การของจำเลยเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิงแม้จำเลยจะมิได้แสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการปฏิเสธทำให้ไม่มีสิทธินำสืบหักล้าง แต่โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบให้สมฟ้อง จะอ้างว่าจำเลยยอมรับตามฟ้องโดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบพยานหาได้ไม่
แม้ตามสัญญาจ้างจะกำหนดให้โจทก์ทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมงก็ตามเป็นเพียงคู่สัญญาตกลงกำหนดจำนวนชั่วโมงในการทำงาน สำหรับวันหนึ่ง ๆ ไว้เท่านั้นซึ่งอาจเป็นกำหนดเวลาทำงานตามปกติทั้งหมดหรืออาจรวมทั้งกำหนดเวลาที่นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติด้วยก็ได้ ทั้งนี้สุดแล้วแต่สัญญาจ้างหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะกำหนดไว้ จะถือว่าเมื่อกำหนดระยะเวลาทำงานในวันหนึ่ง ๆ แล้วระยะเวลาดังกล่าวต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างทั้งหมดหาได้ไม่ ตามสัญญาจ้างยังได้กำหนดจำนวนเงินเดือนพื้นฐานโดยระบุว่าคำนวณมาจากจำนวนชั่วโมงทำงานปกติ ๑๗๖ ชั่วโมงต่อเดือน และกำหนดว่าเวลาทำงานที่เกินวันละ ๘ ชั่วโมง ให้ได้รับค่าจ้างเป็นค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาพิเศษซึ่งกำหนดไว้สูงกว่าอัตราค่าจ้างปกติ แสดงว่าโจทก์กับจำเลยได้ตกลงให้ถือเอาเวลาทำงานเดือนละ๑๗๖ ชั่วโมงเป็นเวลาทำงานปกติ ซึ่งเมื่อเฉลี่ยเป็นรายวันแล้วไม่เกินวันละ ๘ ชั่วโมง นอกจากนี้ตามสัญญาจ้างได้ตั้งเงื่อนไขในการจ่ายค่าล่วงเวลาพิเศษไว้ด้วยว่า กรณีที่โจทก์ไม่สามารถหรือปฏิเสธโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่จะทำงานอย่างต่ำวันละ ๑๒ ชั่วโมงโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาพิเศษ ดังนั้นค่าล่วงเวลาพิเศษโจทก์จะมีสิทธิได้รับต่อเมื่อได้ทำงานในแต่ละวันครบจำนวนชั่วโมงตามที่กำหนด มิใช่จะได้รับทุกกรณีเสมอไปค่าล่วงเวลาจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ไม่ต้องนำมารวมกับค่าจ้างพื้นฐานเพื่อคำนวณเงินประเภทต่าง ๆ
การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยกรณีที่สั่งให้โจทก์ไปทำงานที่เรือเมอรานติ โจทก์ข่มขู่จะทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลย และข่มขู่จะก่อวินาศกรรมแก่เครื่องจักรกลของจำเลย แต่เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า คำให้การของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานนั้น ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทและจำเลยไม่มีสิทธินำสืบ ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยกรณีที่สั่งให้โจทก์ไปทำงานที่เรือเมอรานติ จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็น จำเลยจะยกเหตุเลิกจ้างข้อนี้ใช้ยันโจทก์หาได้ไม่ ส่วนข้อเท็จจริงซึ่งได้ความว่าโจทก์ข่มขู่จะก่อวินาศกรรมแก่เครื่องจักรกลของจำเลยนั้น ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ได้กำหนดเป็นความผิดหรือกำหนดโทษไว้ คงมีกำหนดเฉพาะกรณีที่โจทก์ข่มขู่จะทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ระบุว่า ‘ข่มขู่ลูกจ้างอื่น’ แต่ตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดโทษลูกจ้างผู้กระทำผิดดังกล่าวไว้หลายระดับ เช่น ตักเตือน ลดเงินเดือน พักงาน หรือไล่ออกจากงาน มิได้กำหนดโทษขั้นไล่ออกจากงานสถานเดียว แสดงว่าแม้ลูกจ้างกระทำผิดดังกล่าว จำเลยมิได้ถือเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรงอย่างเดียว จึงได้กำหนดโทษไว้หลายระดับ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ ๔๗(๓) และกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๒๗ เต็มเดือนหรือไม่ นั้น เมื่อสัญญาจ้างซึ่งกำหนดเงินเดือนพื้นฐานเป็นรายเดือนได้จำกัดความของคำว่าเดือนไว้ว่า หมายถึงระยะเวลาซึ่งเริ่มต้นในวันแรกของเดือนใด ๆ ในปฏิทินและสิ้นสุดในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ ตามปฏิทิน เงินเดือนพื้นฐานซึ่งจำเลยจะจ่ายเป็นรายเดือนเต็มจำนวนให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยเต็มเดือนกรณีที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยไม่เต็มเดือน เงินเดือนพื้นฐานย่อมลดลงตามส่วนการที่โจทก์ทำงานครบ ๑๔ วันตามข้อตกลงไม่ก่อให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างพื้นฐานเต็มเดือน เพราะสัญญาจ้างมิได้กำหนดให้สิทธิแก่โจทก์เช่นนั้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ทำงานครบ ๑๔ วันตามข้อตกลงแล้ว โจทก์ต้องเสียเวลารอคอยเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งต้องถือว่าระยะเวลาที่รอคอยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวลาทำงาน นั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยจัดให้โจทก์ทำงานเดือนละ๑๕ วัน ซึ่งเกินกว่าข้อตกลงเดือนละ ๑ วัน ขอเรียกค่าจ้างสำหรับจำนวนวันที่ทำงานเกิน โจทก์มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานในแต่ละวันเกินกำหนดเวลาทำงานปกติของวันทำงานแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงนอกฟ้อง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย

Share