คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1858/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุขุมวิท ได้ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าหลายคนโดยไม่มีหลักทรัพย์เป็น ประกัน อันเป็นการเกินอำนาจที่โจทก์ร่วมได้ให้ไว้ ฝ่ายตรวจสอบฯ ของโจทก์ร่วมทราบและได้แจ้งให้จำเลยจัดการแก้ไข จำเลยได้โอนหนี้ของลูกค้าดังกล่าวไปเป็นหนี้ ของ บริษัท บ. รายเดียว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีทางจะได้รับชำระหนี้ จากบริษัท บ. และจากหลักทรัพย์ต่างๆ ที่ บริษัท บ. เสนอเป็นประกันหนี้ โดยสิ้นเชิง และการที่จำเลย ปล่อยสินเชื่อดังกล่าว จำเลยไม่ได้รับประโยชน์ แต่อย่างใด ดังนี้ การกระทำของจำเลยหาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมแต่อย่างใดไม่ และฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๓๕๓ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑๓,๘๑๓,๘๓๖ บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุขุมวิท ๔๓ โจทก์ร่วมได้ให้อำนาจแก่จำเลยในการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อประเภทรับซื้อลดตั๋วเงินแก่บรรดาลูกค้าของธนาคารได้ รายละไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและรายละไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีบุคคลค้ำประกัน จำเลยได้ปล่อยสินเชื่อประเภทรับซื้อลดตั๋วเงินแก่บริษัท บ. และบุคคลอื่นอีกหลายคนรวมเป็นเงิน ๑๓,๘๑๓,๘๓๖ บาท โดยไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกัน ต่อมาฝ่ายตรวจสอบฯ ได้มาทำการตรวจสอบพบ จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยได้จัดการโอนหนี้ดังกล่าวมาเป็นหนี้ของบริษัท บ. แต่รายเดียวโดยมี ธ.ทำสัญญาค้ำประกัน นอกจากนั้นบริษัท บ. ยังได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และได้เสนอหลักทรัพย์เป็นประกันด้วย ต่อมาบริษัท บ. ได้ผ่อนชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ยไปบ้างแล้วประมาณ ๓ ล้านบาท ฯลฯ เมื่อคำนึงถึงหลักประกันของบริษัท บ. และของ ธ. ประกอบกับสัญญาซื้อลดตั๋วเงินยังไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง และบริษัท บ. ก็ยังดำเนินกิจการอยู่ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ร่วมมีทางที่จะได้รับชำระหนี้ที่ยังค้างชำระอยู่โดยสิ้นเชิงแม้การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนก็ตาม แต่ก็หาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมแต่อย่างใดไม่ (และพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต)การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓
พิพากษายืน

Share