คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศเงื่อนไขข้อ 9ระบุว่า “ในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ศึกษาต่อหรือในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้ากลับเข้าปฏิบัติราชการต่อไปตามที่กล่าวในข้อ 5 ถ้าข้าพเจ้าประพฤติผิดทางวินัยจนถึงถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากราชการ ข้าพเจ้ายินยอมชดใช้เงินและเบี้ยปรับให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (โจทก์) เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือลดลงตามส่วนเช่นเดียวกับสัญญาข้อ 7” เมื่อโจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ศึกษาต่อให้ออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัยระหว่างที่จำเลยปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาข้อ 9จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ทุนและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ 9 ดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยขอกลับเข้ารับราชการหลังจากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนม์พรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับโดยจำเลยแสดงความจำนงต่อโจทก์ว่าประสงค์จะขอกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนต่อเนื่องจากยังชดใช้ทุนไม่ครบตามสัญญา และโจทก์ก็มีคำสั่งรับบรรจุจำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการ ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนตามสัญญาต่อไปนั่นเอง จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดชำระเงินทุนและเบี้ยปรับแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ เมื่อปี 2522 จำเลยที่ 1 ขอลาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีภายในประเทศที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรและได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2522ถึงวันที่ 2 เมษายน 2524 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการเป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่รับเงินเดือนระหว่างลาศึกษา หากผิดสัญญายอมชดใช้เงินที่รับไปรวมเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ทั้งนี้มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ระหว่างปฏิบัติราชการใช้ทุนดังกล่าวจำเลยที่ 1ได้ลาออกจากราชการเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งจึงขอกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนให้แก่โจทก์ต่อไปอีกและยังไม่ครบกำหนดเวลาปฏิบัติราชการใช้ทุน จำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทภายในประเทศที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2527 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2529 ซึ่งสัญญาที่ทำกันไว้จำเลยที่ 1ต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการชดใช้ทุนให้แก่โจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า2 เท่า ของเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนระหว่างที่ลาไปศึกษาต่อ ทั้งมีสัญญาข้อ 9 กำหนดเงื่อนไขว่า ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ศึกษาต่อหรือระหว่างที่จำเลยที่ 1กลับเข้าปฏิบัติราชการเพื่อชดใช้ทุนให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1ประพฤติผิดทางวินัยจนถึงถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการแล้วจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ ทั้งนี้มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดิน หลังจากจำเลยที่ 1สำเร็จการศึกษาครั้งนี้ก็ได้กลับเข้าปฏิบัติราชการเพื่อชดใช้ทุนแล้วต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2529 โจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1ออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 9 ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังปฏิบัติราชการชดใช้ทุนแก่โจทก์ไม่ครบตามสัญญาโดยยังเหลือเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีอีก 12 วัน คิดเป็นเงินทุนที่ต้องชดใช้ 392.44 บาท ส่วนทุนที่ได้รับในการศึกษาระดับปริญญาโทนั้น จำเลยที่ 1 ยังมิได้ปฏิบัติราชการชดใช้ให้เลย คิดเป็นเงินทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับ201,778.66 บาท จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ให้แก่โจทก์พร้อมเบี้ยปรับอีก 1 เท่า เป็นเงิน 403,557.32 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์ที่ได้รับไปในระหว่างลาศึกษาต่อทั้งสองครั้งเป็นเงินทั้งสิ้น ที่ถูก 403,949.76 บาทจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 403,849.76 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแต่โจทก์จนกว่าจะเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์มี 2 ประการเท่านั้น คือ กรณีที่จำเลยที่ 1 มิได้กลับเข้าปฏิบัติราชการให้โจทก์เลย หรือเข้ารับราชการบ้างแต่ไม่ครบกำหนดเวลา 2 เท่าที่ได้รับทุน และในกรณีที่จำเลยที่ 1ถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้อกจากราชการในระหว่างที่ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อ หรือในระหว่างกลับเข้าปฏิบัติราชการเพื่อชดใช้ทุน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 จบการศึกษาแล้วได้กลับเข้าปฏิบัติราชการตามสัญญา และระหว่างที่ไปศึกษาต่อหรือระหว่างกลับเข้าปฏิบัติราชการหลังจากจบการศึกษานั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประพฤติผิดวินัยจนถูกไล่ออกปลดออกหรือให้ออกจากราชการเลย ส่วนที่โจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการตามฟ้อง เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ไปศึกษาต่อการที่โจทก์ปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการก็แสดงว่าโจทก์ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญา มิใช่จำเลยที่ 1 มีเจตนาจะไม่ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ถึงกระนั้นก็ตามต่อมาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนม์พรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 จำเลยที่ 1 จึงได้ขอกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนต่อ และได้รับราชการสังกัดโจทก์ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาส่วนเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องมาก็เป็นการขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน403,849.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี2522 จำเลยที่ 1 รับราชการครูประถมศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระทรวงมหาดไทย ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2522 ถึงวันที่ 2 เมษายน 2524 เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 ต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการชดใช้ให้ต้นสังกัดคือโจทก์ เป็นจำนวน 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาเนื่องจากข้าราชการครูประถมศึกษาได้โอนเข้ามาสังกัดโจทก์ตั้งแต่ปี 2523 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนยังไม่ครบกำหนดนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในประเทศอีกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2529 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1ต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการชดใช้ทุนให้แก่โจทก์เป็นจำนวน 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาเช่นกัน ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศเอกสารหมาย จ.2 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนดังกล่าว โจทก์ได้มีคำสั่งลงโทษปลดจำเลยที่ 1ออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัยตามคำสั่งที่ 561/2529 ลงวันที่12 ธันวาคม 2529 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดพังงา)ต่อมาเมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนม์พรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 แล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอกลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2531 ตามเอกสารหมาย ป.ล.1(ศาลแพ่ง) โจทก์อนุมัติรับบรรจุจำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2531 ตามเอกสารหมาย ป.ล.3 และ ป.ล.4(ศาลแพ่ง)
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศ เอกสารหมาย จ.2 ตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ 9ระบุว่า “ในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ศึกษาต่อ หรือในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้ากลับเข้าปฏิบัติราชการต่อไปตามที่กล่าวในข้อ 5 ถ้าข้าพเจ้าประพฤติผิดทางวินัยจนถึงถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากราชการ ข้าพเจ้ายินยอมชดใช้เงินและเบี้ยปรับให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือลดลงตามส่วนเช่นเดียวกับสัญญาข้อ 7” ดังนี้ เมื่อโจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัยระหว่างที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนเป็นการผิดสัญญาข้อ 9ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ทุนและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ 9 แต่เมื่อจำเลยที่ 1ขอกลับเข้ารับราชการหลังจากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนม์พรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับ โดยจำเลยที่ 1 แสดงความจำนงต่อโจทก์ว่าประสงค์จะขอกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนต่อเนื่องจากยังชดใช้ทุนไม่ครบตามสัญญา ตามเอกสารหมาย ป.ล.1(ศาลแพ่ง) และโจทก์ก็มีคำสั่งรับบรรจุจำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการตามเอกสารหมาย ป.ล.3 และ ป.ล.4 (ศาลแพ่ง) ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนตามสัญญาต่อไปนั่นเอง จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ต้องรับผิดชำระเงินทุนและเบี้ยปรับแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share