คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18462/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 8186 เพชรบุรี และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อ่างทอง ง – 5190 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธความรับผิดในส่วนนี้ไว้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ที่ อ. เป็นเจ้าของ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จึงเป็นไปตามที่โจทก์ทั้งสองระบุในฟ้องและเป็นประเด็นพิพาท คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 347,000 บาท และ 528,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 , 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 65,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 28 มิถุนายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 3 ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ โดยโจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง และได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของนายสมบุญหรือสมพร และเป็นผู้ปกครองของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของนายสมบุญ ตามคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2542 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา นายสมบุญขับรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน อ่างทอง ง – 5190 ของนายอุบล โดยมีนางสาวจันลา นั่งซ้อนท้ายแล่นไปตามถนนสายโพธิ์พระยา – ท่าเรือ มุ่งหน้าไปทางถนนสายเอเชีย เมื่อไปถึงบริเวณโค้งโลงศพที่เกิดเหตุมีรถบรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 8186 เพชรบุรี ของจำเลยที่ 1 แล่นตามหลังมาในช่องทางเดียวกันเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายสมบุญขับเป็นเหตุให้นายสมบุญถึงแก่ความตายและนางสาวจันลาได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย รถบรรทุกหกล้อและรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำเลยที่ 2 เป็นบิดาของจำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้น15,000 บาท นายอุบลให้ผู้ตายยืมรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปใช้ เนื่องจากทำกิจการรับจ้างร่วมกับผู้ตาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกข้อกำหนดในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แล้ววินิจฉัยว่า นายอุบล มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย เป็นการไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ และมิได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 8186 เพชรบุรี และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อ่างทอง ง – 5190 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธความรับผิดในส่วนนี้ไว้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ที่นายอุบลเป็นเจ้าของ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเงิน 65,000 บาท จึงเป็นไปตามที่โจทก์ทั้งสองระบุในฟ้องและเป็นประเด็นพิพาท คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่านายอุบลผู้เอาประกันภัยไม่ได้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share