คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินค่าบริการที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นเงินที่นายจ้างคิดเพิ่มจากผู้ที่มาใช้บริการของโรงแรมอีกร้อยละสิบของค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าที่พักและค่าบริการต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ของนายจ้างจะเก็บรวบรวมไว้ หากมีความเสียหายที่เกิดจากผู้ที่มาใช้บริการนายจ้างก็จะนำเงินดังกล่าวบางส่วนไปชดใช้ค่าเสียหาย เหลือเท่าใดจึงนำไปแบ่งเฉลี่ยแก่ลูกจ้างคนละเท่ากัน ซึ่งในแต่ละเดือนเป็นจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผู้ที่มาใช้บริการและค่าเสียหายดังกล่าว ดังนี้ เงินค่าบริการจึงเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าแทนลูกจ้างโดยประสงค์ให้ตกเป็นของลูกจ้างทั้งหมด และกรณีนายจ้างเรียกเก็บไม่ได้ เพราะไม่มีผู้มาใช้บริการ นายจ้างก็ไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องจ่ายเงินค่าบริการแก่ลูกจ้าง การที่ลูกจ้างจ่ายให้แก่นายจ้างโดยตรงเป็นเพียงวิธีปฏิบัติเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินโดยทั่วถึงกันเท่านั้น มิใช่เป็นการเรียกเก็บค่าบริการเอาเป็นของนายจ้างเองแล้วจัดแบ่งแก่ลูกจ้างในภายหลัง เงินค่าบริการจึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างและสภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมโดยให้นับอายุงานติดต่อกันเสมือนมิได้เลิกจ้างและให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินเดือนนับแต่วันที่เลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์เข้าทำงาน หากไม่ปฏิบัติตามให้ใช้ค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ใช้ไม้กวาดขว้างผู้บังคับบัญชา เพราะไม่พอใจการสั่งงานซึ่งเป็นการเจตนาทำร้ายร่างกาย และลบหลู่หยาบคายต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับการทำงาน จึงเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า สาเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ส่วนเงินค่าบริการเป็นเงินเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท นั้นไม่เป็นค่าจ้างอันพึงนำมาคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บจากลูกค้าเป็นพิเศษแล้วนำมาจ่ายให้โจทก์ ทั้งเป็นจำนวนไม่แน่นอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ จำเลย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะประเด็นข้อ ๓ และข้อ ๔ ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันในต้นเงินค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ จำเลย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาว่าเงินค่าบริการเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น ได้ความว่า เงินค่าบริการที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์และพนักงานของจำเลยนั้นเป็นเงินที่จำเลยคิดเพิ่มจากผู้ที่มาใช้บริการของโรงแรมอีกร้อยละสิบจากค่าใช้จ่าย (ค่าที่พักและค่าบริการต่างๆ) ตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่การเงินของจำเลยจะเป็นผู้เก็บรวบรวมไว้ บางครั้งหากมีความเสียหาย (ที่เกิดจากผู้ที่มาใช้บริการ) จำเลยจะนำเงินนี้บางส่วนไปชดใช้ค่าเสียหาย เหลือเท่าใดจึงนำไปแบ่งเฉลี่ยให้แก่พนักงานทุกคนคนละเท่ากัน ซึ่งแต่ละเดือนพนักงานจะได้รับจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาใช้บริการของโรงแรมและที่พักชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เงินค่าบริการซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากลูกค้าเป็นเงินประเภทอื่น นอกเหนือจากค่าตอบแทนที่ลูกค้าได้ใช้บริการอันเป็นกิจการของจำเลยผู้เป็นนายจ้างและจำเลยเรียกเก็บจากลูกค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เงินดังกล่าวตกเป็นของลูกจ้างทั้งหมดโดยไม่คำนึงว่าเงินค่าบริการนี้จำเลยจะเรียกเก็บจากลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด ทั้งในกรณีที่จำเลยเรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้เพราะไม่มีผู้มาใช้บริการกิจการของจำเลยหรือไม่มีเงินค่าบริการ จำเลยก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดหรือไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องจ่ายเงินค่าบริการให้แก่ลูกจ้าง ฉะนั้นเงินค่าบริการจึงเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บแทนลูกจ้าง ส่วนการที่ลูกค้าจ่ายให้แก่จำเลยโดยตรงโดยไม่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น เป็นเพียงวิธีปฏิบัติโดยจำเลยทำหน้าที่เป็นผู้เก็บรวบรวมไว้แล้วจัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินค่าบริการโดยทั่วถึงกัน มิได้หมายความว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค่าบริการเอาเป็นของจำเลยแล้วจัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างในภายหลังดังนั้นเงินค่าบริการจึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ ซึ่งการคำนวณเงินประเภทต่าง ๆ ต้องนำไปเป็นฐานคำนวณด้วย
พิพากษายืน.

Share