คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เฉพาะกรณีจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ เมื่อไม่ปรากฏว่านอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ยึดและอายัดมาชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีไม่ครบถ้วนตามที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน ๙๒,๖๑๑,๕๓๘.๑๓ บาท แก่โจทก์ และชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ เงินเพิ่มไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระในแต่ละประเภทภาษีดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีสิ้นสภาพบุคคลแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งโจทก์ฟ้องคดีหลังจากจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเลิกบริษัทเกินกว่า ๒ ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ ๑ ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีต่าง ๆ ถูกต้องครบถ้วน จำเลยที่ ๑ ไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน จึงมิได้อุทธรณ์การประเมิน การประเมินย่อมไม่เป็นที่สุดและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเลิกบริษัท และจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้ว โดยได้ประกาศโฆษณาหนังสือพิมพ์ให้บรรดาลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบเพื่อการชำระสะสางหนี้สิน ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลยที่ ๑ ให้ชำระหนี้ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชอบหนี้สินใด ๆ ต่อโจทก์ คำสั่งกรมสรรพากรที่มอบอำนาจให้นายสำเร็จ ตั้งสุวรรณ สรรพากรภาค ๓ เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีนั้นไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจ ดังนั้น นายสำเร็จไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทน คำสั่งดังกล่าวไม่ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าตามประมวลรัษฎากร การมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงผู้ชำระบัญชี ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ เป็นหรือเคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ไม่เคยถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ หรือมีส่วนร่วมในการบริหารของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ เข้ามาเมื่อจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเลิกกิจการแล้วและกำลังจะสิ้นสภาพบุคคล จำเลยที่ ๒ ได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว จำเลยที่ ๒ ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระเงินค่าภาษีอากรและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ มีทรัพย์สินเหลือพอชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้โจทก์ จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนกระทำใดให้โจทก์เสียหาย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ภาษีอากรจำนวน ๙๒,๖๑๑,๕๓๘.๑๓ บาทพร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีแต่ละจำนวนที่จำเลยที่ ๑ ต้องชำระตามใบแจ้งการประเมินรายพิพาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๑ จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้เงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามใบแจ้งการประเมินรายพิพาทแต่ละฉบับ และให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า… ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ชำระบัญชีและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์กล่าวคือ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๗ ภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องจำนวน ๔๓,๓๘๓,๕๑๘.๗๕ บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องจำนวน ๑๒,๖๕๑,๖๐๒.๒๓ บาท ภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นคำนวณถึงวันฟ้องสำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ จำนวน ๑๘,๓๖๗,๕๐๒.๘๐ บาท สำหรับเดือนภาษีธันวาคม ๒๕๓๘ จำนวน ๑๗,๕๙๕,๙๐๐ บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องสำหรับเดือนภาษีธันวาคม ๒๕๓๘ จำนวน ๖๑๓,๐๑๔.๓๕ บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน ๙๒,๖๑๑,๕๓๘.๑๓ บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เฉพาะกรณีจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยที่ ๑ มีอยู่ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่านอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ยึดและอายัดมาชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ ๑ ยังมีทรัพย์สินอื่น ดังนั้น แม้จำเลยที่ ๒ จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีไม่ครบถ้วนตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยที่ ๒ ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้.

Share