คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมที่มีข้อความเป็นคำสั่งกำหนดให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรชายทุกคนนั้น มีผลใช้ได้ตามกฎหมาย ส่วนข้อห้ามที่กำหนดไม่ให้แบ่งแยกทรัพย์นี้ออกไปเลยเป็นอันขาดนั้น ขัดต่อกฎหมาย ใช้บังคับไม่ได้ เพราะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ย่อมมีสิทธิใช้สรอย จำหน่าย และขอแบ่งทรัพย์นั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และ 1363 พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เสียไปทั้งฉบับ.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ขุนนันทพานิชบิดาโจทก์มีบุตรรวม ๑๔ คน ขุนนันทพานิชทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๖๙ แต่พินัยกรรมดังกล่าวได้ยกเลิกไปโดยเหตุที่ขุนนันทพานิชจำหน่ายทรัพย์ในพินัยกรรมหมดไปแล้ว จึงฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกออกเป็น ๑๔ ส่วน ให้โจทก์ ๔ คน ๆ ละ ๑ ส่วน ฯลฯ
จำเลยต่อสู้ว่า ทรัพย์ตามหมายเลข ๑ เป็นทรัพย์ของมารดาจำเลย ฯลฯ และตัดฟ้องว่า (๑) พินัยกรรมของขุนนันทพานิชฉบับลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๖๙ ยังเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเอาทรัพย์ตามรายการบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข ๑ – ๒ – ๓ – ๕ และ ๗ เฉพาะเงิน ๕,๐๐๐ บาทซึ่งอยู่ที่นางพลอยจำเลยเอามาแบ่ง โดยเอาทรัพย์หมายเลข ๑ – ๒ – ๓ – ๕ ออกประมูลระหว่างทายาท ถ้าไม่ตกลงเอาออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดเอามารวมกับเงิน ๕,๐๐๐ บาท แล้วแบ่งเป็น ๑๔ ส่วน ให้โจทก์ได้คนละ ๑ ส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายให้เป็นพับ
จำเลยทั้ง ๓ คน แต่ฝ่ายเดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้ง ๓ ฎีการวม ๓ ข้อ คือ (๑) ทรัพย์หมายเลข ๑ เป็นของนายบัวทิพย์ ตกได้แก่บุตร (จำเลย) (๒) พินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๒๖ ก.ย. ๒๔๖๙ มีผลบริบูรณ์ใช้บังคับได้ (๓) เงิน ๕,๐๐๐ บาท ที่นางพลอย (จำเลย) ให้นายวินัยโจทก์ที่ ๒ ยืมไปนั้น เท่ากับนายวินัยโจทก์ได้รับส่วนมรดกของผู้ตายไปแล้ว ชอบที่จะได้หักกลบลบกันไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลย โดยลำดับดังนี้
ข้อ ๑ ฟังว่าทรัพย์หมายเลข ๑ เป็นทรัพย์ของผู้ตาย
ข้อ ๒ พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อความเป็นคำสั่งของผู้ตายว่าทรัพย์ของผู้ตายทั้งหมดที่มีอยู่หรือที่จะมีต่อไปข้างหน้าเมื่อผู้ตาย ๆ แล้ว ให้ตกแก่บุตรของผู้ตายที่เป็นชายทุกคนนั้นมีผลใช้ได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าทรัพย์สินตกเป็นของทายาทซึ่งเป็นชายตามพินัยกรรมแล้ว โดยเป็นเจ้าของรวมมีส่วน เท่า ๆ กัน ข้อกำหนดที่ว่า ห้ามไม่ให้แบ่งแยกทรัพย์นี้ออกไปเลยเป็นอันขาดนั้น เห็นว่าตามกฎหมายผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิใช้สรอยและจำหน่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ และเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ามีสิทธิให้แบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๓ การที่พินัยกรรมห้ามไม่ให้แบ่งแยกทรัพย์ออกจากกันเลยตลอดไปเช่นนั้น เป็นการขัดกับกฎหมาย จึงใช้บังคับไม่ได้ ฉะนั้น โจทก์ในคดีนี้เว้นแต่นางสาวประคองศรีย่อมมีสิทธิขอแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ได้ เพราะตามพินัยกรรมให้ทรัพย์ตกได้แก่บุตรผู้ตายที่เป็นชายเท่านั้น ส่วนบุตรหญิงไม่มีส่วนได้รับมรดก นางสาวประคองศรีโจทก์จึงไม่มีสิทธิแบ่ง
ข้อ ๓ เห็นว่าเงิน ๕,๐๐๐ บาท นางพลอยจำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จะให้หักกับส่วนที่นายวินัยโจทก์จะรับมรดกไม่ได้
พิพากษาแก้ว่า เฉพาะนางสาวประคองศรีโจทก์ไม่มีสิทธิจะฟ้องขอแบ่งส่วนมรดกรายนี้ คงให้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ รับส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกดังกล่าวตามวิธีการที่ศาลทั้งสองพิพากษามา คนละ ๑ ใน ๑๔ ส่วน (ตามขอ) ฯลฯ

Share