แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานอัยยการผู้ได้รับแต่งตั้งโดยชอบแล้วมีอำนาจลงชื่อเป็นโจทก์ในฟ้องในฐานพนักงานอัยยการได้ แม้ผู้ลงชื่อจะต่างคนกับที่วงเล็บไว้ที่หน้าฟ้องก็ไม่สำคัญ
ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันทำร้ายร่างกาย ไม่จำต้องระบุว่าจำเลยคนใดใช้อาวุธอย่างไร ทำร้ายแผลไหน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๓ คนสมคบกันใช้เหล็กสามง่ามและได้คานแทงและตีทำร้ายนายง่วนเทียน แซ่อึ้งถึงแก่ความตายโดยเจตนาจะฆ่า ซึ่ง ช.พนักงานอัยยการเป็นผู้ลงชื่อท้ายฟ้อง หน้าฟ้องใช้คำว่า “พนักงานอัยยการ กรมอัยยการ (ขุนวิจัยจรรยา) ” แต่ขุนวิจัยไม่ได้เซ็นชื่อท้ายฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ และตัดฟ้องว่า ฟ้องไม่เป็นฟ้อง และฟ้องเคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าจำเลยคนใดใช้อาวุธอย่างไร
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า เป็นฟ้อง และไม่เคลือบคลุม จำเลยผิดมาตรา ๒๕๑ จำคุกคนละ ๕ ปี ริบของกลาง
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้เซ็นฟ้องต้องเป็นหัวหน้ากองคดี และเรื่องฟ้องเคลือบคลุม
ศาลฎีกาเห็นว่า ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๒ ข้ ๕ ใช้คำว่า พนักงานอัยยการเป็นผู้มีอำนาจฟ้อง มิได้กล่าวถึงหัวหน้ากองคดี หรือแยกอำนาจฟ้องกับการว่าความไว้ต่างหากจากกัน ตาม พ.ร.บ.อัยยการ ๒๔๗๘ ก็มิได้มีบทแยกหน้าที่ดังกล่าว มาตรา ๑๖ เป็นเรื่องจำกัดอำนาจอัยยการผู้ช่วยในบางกรณี ไม่ตรงกับปัญหานี้ ช.มีอำนาจลงชื่อเป็นโจทก์ในฐานพนักงานอัยยการได้ และโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว ไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน.