คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1837/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่า และไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 ไม่มีสิทธิรับมรดก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ ๔๐ ปีมานี้ จำเลยได้นางฉ่ำพี่สาวโจทก์เป็นภรรยา แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน นางฉ่ำตาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกของนางฉ่ำด้วยคนหนึ่ง
จำเลยให้การว่า นางฉ่ำเป็นพี่สาวโจทก์และเป็นภรรยาจำเลย นายฉ่ำและจำเลยมีบุตรบุญธรรมคนหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับมรดก เพราะมีบุตรบุญธรรมเป็นทายาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า บุตรบุญธรรมของนางฉ่ำ และจำเลย เป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่า และไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๕ จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกและได้แบ่งทรัพย์มรดกให้จำเลยครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งให้แก่ทายาท โจทก์ได้รับทรัพย์มรดก ๑ ใน ๕ ของมรดกที่แบ่งให้แก่ทายาท เพราะปรากฎว่า โจทก์มีพี่น้องร่วมบิดามารดาและมีชีวิตอยู่อีก ๔ คน
จำเลยอุทธรณ์ว่า บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่ามีสิทธิรับมรดก
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามกฎหมายเก่านั้น ไม่มีบทบัญญัติให้บุตรบุญธรรมรับมรดกได้ตามแบบอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๔๒/๒๔๙๓ คดีระหว่าง นายทอง จันทร์เหลือง โจทก์นายจุด ไทรงาม จำเลย ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๒๗ บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมรับมรดกได้นั้น หมายถึงบุตรบุญธรรมที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๕ เท่านั้น ฉะนั้น บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าและไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๘๕ จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดก ส่วนที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔(๒) บัญญัติว่า บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการรับบุตรบุญธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ นั้น หมายความว่า บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่ามีสิทธิอยู่แล้วอย่างไร ก็คงมีอยู่ตามเดิม การที่วินิจฉัยว่า บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าไม่มีสิทธิได้รับมรดก จึงหาเป็นการกระทบกระเทือนหรือตัดรอนสิทธิของบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าแต่ประการใดไม่ เพราะเดินก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดกอยู่แล้ว
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาจำเลย ให้จำเลยเสียค่าทนายความชั้นฎีกา ๑๕๐ บาท แทนโจทก์

Share