คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18280/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติว่า “ผู้ต้องโทษ ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง…” และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า “กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี” ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ แต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินของจำเลยจำนวน 100,000 บาท ได้ กรณีไม่มีเหตุที่จะยกเลิกหมายบังคับคดีและคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 10 ปี และปรับ 650,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี และปรับ 325,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปีได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 และวันที่ 30 เมษายน 2552 ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกและกักขังเมื่อคดีถึงที่สุด โดยระบุในหมายดังกล่าวว่า คดีถึงที่สุดวันที่ 27 เมษายน 2552 ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2553 โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยแทนค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ในส่วนของโทษปรับแล้ว การตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินและอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยเพื่อนำมาชำระค่าปรับจึงยุติ ขอให้ยกเลิกหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 (3)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้จะมีการพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 มาตรา 5 วรรคสอง ให้ผู้ต้องโทษกักขังแทนค่าปรับได้รับพระราชทานอภัยโทษโดยได้รับการปล่อยตัว แต่การพระราชทานอภัยโทษดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะการกักขังแทนค่าปรับเท่านั้น ไม่ได้พระราชทานอภัยโทษค่าปรับ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนการบังคับคดี ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกเลิกหมายบังคับคดีลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อนำเงินมาชำระค่าปรับ กับให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิยึดถือไว้คืนทรัพย์สินของจำเลยที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตามหมายบังคับคดีฉบับดังกล่าวแก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระค่าปรับตามคำพิพากษาเพราะไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติว่า “ผู้ต้องโทษ ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง…” และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า “กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี” ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยจะยังไม่ชำระค่าปรับ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินของจำเลยจำนวน 100,000 บาท ได้ กรณีไม่มีเหตุที่จะยกเลิกหมายบังคับคดีและคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share