คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2532 โจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีของสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ยังคงวางสินค้าที่แผงค้าตลาดมีนบุรีที่เคยเช่า และแผงค้าอื่นที่ไม่เคยเช่า รวมทั้งทางเดินในตลาดมีนบุรีด้วย จึงทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเมื่อการเช่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่โจทก์ยังวางสินค้าอยู่ และจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไปแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมโจทก์จึงเป็นผู้บุกรุกและได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ข้อความที่จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงกับสภาพที่จำเลยที่ 2 ไปพบเห็นมา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย หลังจากจำเลยที่ 3 ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ แม้ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยที่ 3 แจ้งนั้นเป็นความเท็จ เมื่อข้อความที่จำเลยที่ 3 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 แจ้งนั้นเป็นความจริงจำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นผู้พบการกระทำความผิดของโจทก์ในข้อหาบุกรุกและได้ยื่นเรื่องราวต่อจำเลยที่ 1ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการ แต่เป็นเพียงผู้สนับสนุน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย
จำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของสำนักงานตลาด กรุงเทพ-มหานคร ซึ่งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2527 ข้อ 4 และข้อ 6 กำหนดให้ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2529 จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานครถือไม่ได้ว่ามีฐานะเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ.การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งป.อ.ภาค 2 ว่าด้วยความผิดลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด 2ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
การที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคห้าได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่กล่าวในฟ้องจริง เพียงแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไปเท่านั้น ทั้งจะต้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างตัวบทกฎหมายผิดเป็นคนละฉบับไปด้วยเมื่อในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 11 ได้

Share