คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1826/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

89ตรี จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2507-2508. โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้า. ตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี. ถือว่าผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าทุกชนิดได้ขายสินค้านั้นในวันนำเข้าในราชอาณาจักร. จำเลยย่อมมีรายรับตามมูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักร. และมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีการค้าทุกเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป. มูลหนี้ค่าภาษีการค้าจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนภาษีที่จำเลยผู้ประกอบการค้ามีรายรับ.
การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินในภายหลัง. เนื่องจากจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า. แล้วมีหนังสือแจ้งยอดเงินภาษีไปให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวไม่ทำให้มูลหนี้ค่าภาษีการค้าเพิ่งเกิด. แม้หนังสือแจ้งยอดเงินภาษีที่ประเมินจะเพิ่งมีไปยังจำเลยภายหลังจากจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว. กรมสรรพากรก็ยังมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีการค้า ซึ่งมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนได้.
เบี้ยปรับและเงินเพิ่มซึ่งผู้ประกอบการค้าต้องเสียตามประมวลรัษฎากรถือว่าเป็นเงินภาษีด้วย.
สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี.
คำขอรับชำระหนี้ของกรมสรรพากรซึ่งระบุว่าขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากร (ภาษีการค้า) ถือได้ว่าขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ. เพราะค่าภาษีอากรเป็นหนี้บุริมสิทธิสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253(3) อยู่แล้ว.

ย่อยาว

คดีนี้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม2509 กรมสรรพากรยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีการค้าที่จำเลยค้างชำระรวม 104,428.39 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนพยานหลักฐานได้ความว่า จำเลยได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อปี พ.ศ. 2507-2508 โดยมิได้นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้ากองตรวจภาษีเพิ่งตรวจพบและประเมินภาษีแล้วแจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2509 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่า ต้องถือว่าหนี้รายนี้เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2509 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานแจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ทราบ อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว จะนำมาขอรับชำระหนี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย 2483 ควรยกคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 107(1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วย กรมสรรพากรอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน กรมสรรพากรฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีปัญหาข้อเดียวว่า หนี้ค่าภาษีการค้ารายนี้เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อจำเลยนำสินค้าเข้ามาตั้งแต่ปี 2507-2508 หรือนับแต่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินและจำนวนเงินภาษีที่จะต้องชำระไปยังจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากรอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่จำเลยขณะเกิดมูลกรณีนี้ ผู้ประกอบการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าทุกราย มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับของตนทุกเดือนภาษีและต้องยื่นแบบแสดงรายการค้าทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปไม่ว่าจะมีรายรับหรือไม่ ถ้ามีและต้องเสียภาษี ก็ต้องชำระค่าภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการการค้า ถ้าไม่ยื่นหรือยื่นไม่ถูกต้องหรือผิดพลาด ทำให้จำนวนภาษีคลาดเคลื่อน ฯลฯ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินค่าภาษีที่จะต้องชำระ โดยผู้ประกอบการค้าต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งให้ถือว่าเป็นเงินภาษีด้วย แสดงว่ามูลหนี้ค่าภาษีการค้าได้เกิดขึ้นแล้วทุกเดือนภาษีที่ผู้ประกอบการค้ามีรายรับ โดยถือเอาวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเป็นวันที่ต้องชำระภาษีมูลหนี้ค่าภาษีการค้าจึงเกิดขึ้นแล้วทุกเดือนภาษีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า จะถือว่าเพิ่งเกิดเมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินและมีหนังสือแจ้งยอดเงินภาษีไปให้ผู้ประกอบการค้าชำระ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87(2), 88, 89(2) และ89 ทวิ ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องอำนาจและวิธีการของเจ้าพนักงานประเมินจะดำเนินการตรวจตราเรียกเก็บภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า ซึ่งมีมูลหนี้ค่าภาษีการค้าเกิดขึ้นก่อนแล้วตามระยะเวลาและรายรับที่ประกอบการค้าเท่านั้น คำวินิจฉัยในคำพิพากษาฎีกาที่ 336/2508 ที่ว่า “เมื่อผู้ประกอบการค้ายังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า ก็ยังไม่มีค่าภาษีที่ต้องชำระ” ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเหตุแสดงว่า เมื่อยังไม่มีค่าภาษีที่จะต้องชำระ ก็ถือว่ายังไม่มีมูลหนี้หรือมูลหนี้ค่าภาษีการค้ายังไม่เกิดขึ้นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อดูคำวินิจฉัยในฎีกานั้นทั้งหมดประกอบกับตัวบทกฎหมายแล้วศาลฎีกาเพียงแต่หมายความว่า เมื่อผู้ประกอบการค้าไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า และเจ้าพนักงานประเมินยังไม่ได้ประเมินเรียกเก็บภาษี ก็ยังไม่มีหรือไม่รู้ยอดเงินค่าภาษีที่ผู้ประกอบการค้าจะต้องชำระให้เท่านั้นเอง ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยไว้เลยว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งยอดเงินภาษีไปยังผู้ประกอบการค้าให้ชำระแล้ว ให้ถือว่าหนี้ค่าภาษีการค้านั้นเกิดขึ้นในวันที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งผลการประเมินไป เพราะถ้าถือเช่นนั้นแล้ว จะเป็นเหตุให้หนี้ค่าภาษีอากรซึ่งมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 ขยายอายุความออกไปจากวันที่กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าต้องเสียภาษีผลจะกลายเป็นว่า หนี้ค่าภาษีการค้าไม่มีวันขาดอายุความ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุนี้เองประมวลรัษฎากร มาตรา 88 (2) จึงกำหนดไว้ว่า ในกรณีผู้ประกอบการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า เจ้าพนักงานประเมินต้องประเมินภายใน10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าซึ่งเป็นการรับรองว่ามูลหนี้ค่าภาษีการค้าได้เกิดขึ้นแล้ว จะถือว่าหนี้ค่าภาษีการค้ารวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจังผลการประเมินไปยังผู้ประกอบการค้าไม่ได้ เพราะเป็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มกฎหมายให้ถือว่าเป็นเงินภาษีด้วยตามมาตรา 89 ตรี คดีนี้จำเลยเป็นผู้ประกอบการค้าซึ่งได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2507 และเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมสิงหาคม พฤศจิกายน 2508 รวม 5 เดือน โดยจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศโดยอาศัยอำนาจมาตรา 79(6) ให้ถือว่าผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าทุกชนิดได้ขายสินค้านั้นในวันนำเข้าในราชอาณาจักรด้วยเหตุนี้จำเลยจึงมีรายรับตามมูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักร โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะขายสินค้านั้นได้หรือไม่ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีการค้าในวันที่ 15ของเดือนถัดไปตามมาตรา 78, 85 ทวิ และ 86 โดยต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งเป็นเงินภาษีด้วยตามมาตรา 89(2), 89 ทวิ และ 89 ตรีหนี้ค่าภาษีการค้าของจำเลยจึงเกิดขึ้นแล้วในระยะเวลาของ 5 เดือนภาษีดังกล่าว ก่อนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย กรมสรรพากรมีสิทธิขอรับชำระหนี้รายนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา94, 130(6) ในฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ เพราะตามคำขอรับชำระหนี้ของกรมสรรพากรได้ขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากร (ภาษีการค้า) ซึ่งเป็นหนี้บุริมสิทธิสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253(3)อยู่แล้ว พิพากษากลับ ให้กรมสรรพากรรับชำระหนี้ได้ตามคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ.

Share