แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางและให้จำเลยเช่าซื้อไปเมื่อวันที่22พฤศจิกายน2537ต่อมาวันที่19มีนาคม2538จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและถูกพนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้นคือวันที่20มีนาคมและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในวันเดียวกันนั้นต่อมาวันที่21มีนาคมจำเลยไปติดต่อกับผู้ร้องเพื่อขอหนังสือมอบอำนาจจากผู้ร้องไปขอรับรถจักรยานยนต์ของกลางคืนผู้ร้องจึงได้ทราบเรื่องและได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยในวันนั้นตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงน่าเชื่อว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยต้องคืนรถจักรยานยนต์ของกล่าวให้ผู้ร้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 134, 160 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 มาตรา 16, 31 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ให้จำคุก 45 วัน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร6ล-4476 ของกลางในคดีนี้โดยผู้ร้องได้ให้จำเลยเช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2537 จำเลยได้นำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้กระทำความผิด เป็นการผิดสัญญาเช่าซื้อและผู้ร้องได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดเพราะไม่ปรากฏว่าผู้ร้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อจำเลยได้นำรถจักรยานยนต์ของกล่าวไปใช้ในการกระทำผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 6ล-4476 ของกลาง แก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 6ล-4476 ของกลาง และได้ให้จำเลยเช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2537 ต่อมาเมื่อวันที่19 มีนาคม 2538 จำเลยได้นำรถจักรยานยนต์ของกลางที่เช่าซื้อจากโจทก์ดังกล่าวไปขับแข่งกับพวกในทางจราจร และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2538 และถูกพนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 20 มีนาคม 2538และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในวันเดียวกันนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2538 จำเลยได้ไปติดต่อกับผู้ร้องเพื่อขอหนังสือมอบอำนาจจากผู้ร้องไปขอรับรถจักรยานยนต์ของกลางคืนผู้ร้องจึงได้ทราบเรื่องและได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยในวันนั้นเองตามเอกสารหมาย ร.6ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งเมื่อผู้ร้องได้ทราบการกระทำความผิดของจำเลยแล้วก็ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยทันที จึงน่าเชื่อว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยเหตุผลและต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน