คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1819/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบมา เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยยังเถียงการครอบครองอยู่ การที่จำเลยเข้าไปแผ้วถางในที่พิพาทก็เข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นที่ของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ได้ว่า ต้นไม้และกอไผ่ในที่พิพาทบิดาโจทก์ร่วมหรือโจทก์ร่วมได้ปลูกไว้ หากแต่เป็นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ การที่จำเลยเข้าไปแผ้วถางเพื่อยึดถือครอบครองทำประโยชน์จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 23 เมษายน2530 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยบุกรุกเข้าไปแผ้วถางและจุดไฟเผาในที่ดินของนายธนู เสนพงศ์ ผู้เสียหายเป็นเนื้อที่ 20 ไร่เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วนและเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขและเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2530 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 15 มีนาคม2530 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยได้แผ้วถางและเผาทำลายต้นยาง20 ต้น ต้นเนียง 50 ต้น และต้นไผ่ 100 กอ ของผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพกสิกรรม ทำให้พืชผลดังกล่าวเสียหายคิดเป็นเงิน 25,000 บาทเหตุเกินที่ตำบลนาคา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 358, 359, 362, 365 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายธนู เสนพงศ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359(4), 365(3) ประกอบมาตรา 358, 362,86, 90 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อข้อหาดังกล่าวมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษข้อหาบุกรุกจำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษมาก่อนและเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามมาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์, โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังไม่ได้ความชัดว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ร่วมครอบครองดังที่โจทก์ฟ้อง และตามพยานหลักฐานที่โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันมาก็เห็นได้ว่า ทั้งสองฝ่ายยังเถียงการครอบครองอยู่การที่จำเลยเข้าไปแผ้วถางในที่พิพาทก็เข้าใจโดยสุจริตว่า ที่พิพาทเป็นที่ของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกและพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความแตกต่างขัดกัน จึงฟังไม่ได้ว่าต้นไม้และกอไผ่ในที่พิพาทบิดาโจทก์ร่วมหรือโจทก์ร่วมได้ปลูกไว้ หากแต่เป็นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ การที่จำเลยเข้าไปแผ้วถางเพื่อยึดถือครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share