แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีล้มละลายในกรณีที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกัน ปัญหาว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตามมาตรา 10(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกเป็นประเด็นต่อสู้ไว้ เพิ่งมีประเด็นขึ้นในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ โจทก์ออกเงินชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยเมื่อจำเลยไม่ชำระเงินค่าซื้อหุ้น โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินที่ค้างชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 819 ดังนี้โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันเพราะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงเหนือใบหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์ของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 6 แต่เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิขายใบหุ้นที่โจทก์ยึดหน่วงไว้เพื่อชำระหนี้โจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้มีประกันเดิมจึงระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่ต้องบอกกล่าวในฟ้องตามที่ระบุไว้ในมาตรา 10(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้จากการซื้อหุ้นจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ได้อ้างสิทธิตามสัญญาดังกล่าวนำเงินจากการขายหุ้นของจำเลยมาชำระหนี้เมื่อหักยอดหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังคงค้างโจทก์จนถึงวันฟ้อง 20,942,354.57 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองชำระหนี้หลายครั้ง จำเลยทั้งสองเพิกเฉยโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และไม่มีทรัพย์สินอย่างใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า การทำนิติกรรมตามสัญญาท้ายฟ้องอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ จึงมิอาจนำจำนวนหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลาย สัญญาท้ายฟ้องทำขึ้นขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 เรื่อง ควบคุมกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคและประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 และขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 112, 113 และ 114 จึงเป็นโมฆะ สัญญาท้ายฟ้องกระทำไปในลักษณะของการพนันขันต่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853, 855 โดยอาศัยการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นมาตรฐานการกำหนดการแพ้ชนะจึงเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ โจทก์อาจนำมาฟ้องได้ โจทก์ได้กลฉ้อฉลข่มขู่ให้จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่ออำพรางฐานะการเงินของโจทก์ ซึ่งโจทก์ทราบตั้งแต่แรกว่า ความจริงเป็นเพียงเจตนาลวงเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์คำนวณยอดหนี้ตามฟ้องไม่ตรงกับความจริง โจทก์มิได้นำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของจำเลยซึ่งอยู่ที่โจทก์หักชำระหนี้ก่อนจำเลยยังมีทรัพย์สินอยู่ที่โจทก์สามารถนำมาหักชำระหนี้ส่วนที่จำเลยต้องรับผิดอยู่อีกมาก จำเลยไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ตามสัญญาท้ายฟ้องไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี และเป็นหนี้ที่โจทก์อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ ถ้าหากฟังว่าจำเลยต้องรับผิด จำเลยขอต่อสู้ว่าหนี้ดังกล่าวเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ก่อขึ้นโดยรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันฟ้องคดีต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 10(2)หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ประเด็นข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้แต่ต้น ชอบที่ศาลฎีกาจะไม่พิจารณาให้เสียก่อนศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีล้มละลาย และประเด็นดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะมิได้ยกเป็นประเด็นต่อสู้ไว้แต่ศาลชั้นต้นเพิ่งยกขึ้นมาเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ฎีกาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจที่จะวินิจฉัยให้ได้ ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองตามมูลหนี้เดิมแต่ได้ฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้อง ฉะนั้น แม้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ได้ออกเงินชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นในฐานะเป็นตัวแทนซื้อหุ้นให้จำเลยที่ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ และโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นเหล่านั้น อันตกอยู่ในความครอบครองโจทก์ไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 819 จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน การที่โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงเหนือใบหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทนดังกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6 ก็ตาม แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ โดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้องโดยคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่มิได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นเช่นนี้หนี้มีประกันเดิมของโจทก์ย่อมระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้องก็มิได้ให้สิทธิโจทก์ยึดถือใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ไว้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันอีกต่อไป หากแต่จำเลยทั้งสองได้ตกลงให้โจทก์มีสิทธิขายใบหุ้นของจำเลยนั้นชำระหนี้โจทก์ได้ ซึ่งใบหุ้นบางส่วนโจทก์ก็ได้ขายหักชำระหนี้โจทก์แล้ว คงเหลือเพียงบางส่วนคือใบหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด เท่านั้น ที่โจทก์ไม่สามารถจะขายได้เพราะไม่มีราคา หนี้ของจำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมายเลข 5 ท้ายฟ้องที่มีอยู่ต่อโจทก์จึงหาใช่หนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6ไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์จึงไม่ต้องกล่าวในฟ้องตามที่ระบุไว้ในมาตรา 10(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.