คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครกรุงเทพ มีหน้าที่ขับรถยนต์ของเทศบาล บรรทุกคนงานไปทำการล้างท่อและซ่อมท่อระบายน้ำ จำเลยที่ 2 เป็นคนล้างท่อและซ่อมท่อ จำเลยมีหน้าที่เพียงดูแลรักษารถยนต์และน้ำมันเท่านั้น เทศบาลมิได้มอบการครอบครองรถยนต์และน้ำมันให้จำเลยครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในถังของรถยนต์นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันดูดเอาน้ำมันเบนซินไปจากถังรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ แล้วนำเอาน้ำมนนั้นไปขายให้จำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7)(11) จำเลยที่ 3 รับไว้โดยรู้ ก็ต้องมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2510)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครกรุงเทพ จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ขับรถยนต์ของเทศบาลนครกรุงเทพ บรรทุกคนงานล้างท่อระบายน้ำ จำเลยที่ ๒ เป็นคนงานล้างท่อและซ่อมท่อระบายน้ำ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ได้บังอาจลักน้ำมันเบนซินจำนวน ๒ กระป๋อง ราคา ๑๑.๕๐ บาท โดยใช้สายปลาสติกดูดลักเอาไปจากถังน้ำมันรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับ และตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ได้บังอาจรับเอาน้ำมันเบนซิน ๒ กระป๋องนั้นโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๗) (๑๑) , ๘๓, ๓๕๗ กับขอให้สั่งคืนของกลางแก่ผู้เสียหาย และขอให้ริบท่อปลาสติกของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อหา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครกรุงเทพ มีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกรับส่งคนงานไปทำการล้างท่อ เมื่อจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ขับรถยนต์ก็เห็นได้ในตัวว่าจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ตลอดถึงน้ำมันรถยนต์ด้วย เพราะอยู่ในหน้าที่ความครอบครอของจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๑ บังอาจร่วมกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันเช่นเดียวกันดูดเอาน้ำมันรถยนต์ไปโดยทุจริตเช่นนี้ การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ และการที่จำเลยที่ ๓ รับซื้อไว้ ก็หาใช่โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ดังที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ เพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการยักยอก ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาจึงต่างกับฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คืนของกลางให้แก่ผู้เสียหาย ริบสายปลาสติกของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น และโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ขับรถยนต์ จำเลยที่ ๑ ก็มีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์ตลอดถึงน้ำมันเบนซินในรถยนต์ด้วย ตามนัยฎีกาที่ ๑๐๙๒/๒๕๐๕ ก็จริงอยู่ แต่จำเลยก็มีหน้าที่เพียงดูแลรักษาเท่านั้น เทศบาลนครกรุงเทพมิได้มอบการครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในรถยนต์ให้จำเลยครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้น กรณีนี้จึงยังถือไม่ได้ว่จำเลยได้ครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในรถยนต์นั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ผิดฐานยักยอก ส่วนจำเลยที่ ๓ ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ ๓ รู้ว่าจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ลักเอาน้ำมันของเทศบาลนครกรุงเทพไปขายให้จำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ จึงมีความผิดฐานรับของโจร พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า นายสมควรจำเลยที่ ๑ และนายชมจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕(๗) และ (๑๑) ให้จำคุกคนละ ๑ ปี จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๗ ให้จำคุก ๖ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share