คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิแก่ตนได้อยู่ก่อน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนอันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ถือเป็นการนอกฟ้อง เกินกว่าคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉลไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ยังได้จากการพิจารณาคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากและการจดทะเบียนขยายกำหนดเวลาไถ่การขายฝากครั้งที่หนึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 202876 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และหากศาลพิพาษาให้เพิกถอนนิติกรรมตามขอหรือจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ได้ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 840,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 840,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับทั้งให้จำเลยที่ 1 ใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท ในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ถึงแก่ความตาย นางชิดชนก ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากและการขยายกำหนดเวลาไถ่การขายฝากครั้งที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 202876 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และหากจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ได้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 840,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาล 50,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ถึงข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกบ้าน 2 หลังลงบนที่ดินให้บุคคลอื่นอยู่อาศัยและเช่าอยู่ก่อน อันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 2 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทและได้ผ่อนชำระราคาที่ดินครบถ้วนจนถือว่าเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนก็ตาม แต่โจทก์นิ่งเฉยมิได้เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ตน การได้มาโดยทางนิติกรรมซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์จึงไม่บริบูรณ์ ไม่สามารถใช้ยันจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากการขายฝากซึ่งเป็นการโอนอันมีค่าตอบแทนและกระทำโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสอง เห็นว่า ที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูง ก่อนตกลงใจซื้อผู้ซื้อมักจะต้องออกไปตรวจดูให้เห็นถึงสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินด้วยตนเองเพื่อให้แน่ใจเสียก่อนว่าเหมาะสมกับราคาที่จะตกลงซื้อขายกันหรือไม่ สำหรับที่ดินพิพาทมีการตกลงราคาขายฝากกันถึง 490,000 บาท นับว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย มีรายได้ประมาณเดือนละ 20,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะมิได้ไปดูที่ดินพิพาทก่อนที่จะตกลงซื้อฝากไว้จากจำเลยที่ 1 ดังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านซึ่งเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลและรับฟังไม่ได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ในเรื่องนี้จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนทำนิติกรรมขายฝาก จำเลยที่ 2 ได้ไปดูที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทมีบ้านของโจทก์ปลูกอยู่ 2 หลังมิใช่ที่ดินว่างเปล่า การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทมีบ้านปลูกอยู่แต่กลับร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้ขายฝากระบุในข้อ 3 ของหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินว่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท จึงเท่ากับเป็นการร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานในการจดทะเบียนขายฝากที่ดินโดยรู้เท่าถึงความจริงว่าโจทก์ผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์อยู่ในขณะมีการขายฝาก อันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะเสียค่าตอบแทน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต แต่พฤติการณ์ดังกล่าวกลับบ่งชี้ว่าเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โจทก์จึงขอให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ซึ่งศาลอุทธรณ์สามารถวินิจฉัยได้ ไม่ถือเป็นการนอกฟ้องหรือเกินกว่าคำขอดังที่ จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉลไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ฟังได้จากการพิจารณาคดีได้ สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 นอกจากวินิจฉัยมาศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ครบถ้วนและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share