คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18103/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ค. ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างและเป็นลูกค้าโจทก์ซึ่งประกอบอาชีพขายเครื่องวัสดุก่อสร้าง ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างมานานถึง 10 ปี เมื่อปี 2550 บริษัท ว. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. ก่อสร้างโรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยซ์ เรสสิเด้นท์ หลังสวน โดยบริษัท ค. ได้รับเงินสนับสนุนจากจำเลยในรูปของสินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น โดยทำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เป็นหลักฐานตามบันทึกข้อตกลงกับสัญญารับชำระหนี้ และจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันค่าวัสดุก่อสร้างที่บริษัท ค. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ในวงเงิน 5,000,000 บาท บริษัท ค. ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์หลายครั้ง และชำระเงินด้วยตนเองต่อมาบริษัท ค. ประสบภาวะขาดทุน ไม่มีเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกระทั่งกลางปี 2551 โจทก์งดขายวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. ขณะนั้นมีหนี้ค้างชำระโจทก์ 10,000,000 บาท หลังจากโจทก์งดสั่งวัสดุก่อสร้าง โจทก์โดย ธ. จำเลยโดย อ. ตัวแทน บริษัท ค. และบริษัท ว. ประชุมร่วมกันเพื่อให้การก่อสร้างดำเนินต่อไป จำเลย โดย อ. ทำหนังสือสนับสนุนการเงินแก่บริษัท ค. จากนั้น โจทก์ได้ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. และโจทก์ได้รับค่าวัสดุก่อสร้างเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายรวม 12 ฉบับ ต่อมาระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2553 โจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างให้บริษัท ค. เป็นเงิน 1,139,520 บาท แต่ไม่ได้รับชำระโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค. และโจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายกลางมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค.
การที่บริษัท ค. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างโดยตรงไม่ผ่านจำเลย แต่จำเลยจะทำสัญญาค้ำประกันไว้และการชำระสินค้าบริษัท ค. ก็ชำระค่าสินค้าโดยตรงแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์งดส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนไม่มีเงินหมุนเวียนจนต้องมีการประชุมระหว่างฝ่ายโจทก์ จำเลย บริษัท ค. และบริษัท ว. เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปและฝ่ายจำเลยได้ออกหนังสือยืนยันสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนี้วิธีการสั่งซื้อสินค้าและชำระค่าสินค้าก็เปลี่ยนไป ดังจะเห็นได้จากแคชเชียร์เช็ค 12 ฉบับ เป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งก็เป็นภายหลังที่มีการตกลงดังกล่าวหาก อ. ตัวแทนของจำเลยไม่รับรองต่อ ธ. ตัวแทนโจทก์และที่ประชุม ทั้งยังมีเอกสารยืนยันสนับสนุนทางการเงินแล้วโจทก์คงไม่ส่งวัสดุก่อสร้างให้บริษัท ค. ซึ่งปรากฏว่าจำเลยได้ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์เป็นแคชเชียร์เช็คถึง 12 ฉบับ อันเป็นการชำระหนี้ตามข้อตกลงในที่ประชุมนั่นเอง อ. พยานจำเลยเบิกความยอมรับว่า การสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจำเลยกำหนดขั้นตอนการสั่งซื้อโดยบริษัท ค. ต้องแจ้งให้จำเลยทราบโดยตัวแทนของจำเลยจะลงลายมือชื่อในช่อง ACKNOWLEDGE ก่อนที่บริษัท ค. จะส่งใบสั่งซื้อสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของ ธ. ยิ่งกว่านั้นใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งของ ใบวางบิล และใบรับใบวางบิลระหว่างวันที่ 16 พ.ค. 2552 ถึงวันที่ 26 ม.ค. 2553 ก็มีลายมือชื่อของตัวแทนจำเลยในช่อง ACKNOWLEDGE ตรงมุมบนของเอกสารดังที่ ธ. และ อ. เบิกความ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยโดย อ. ตกลงชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแก่โจทก์แทนบริษัท ค. จริง
การที่จำเลยตกลงชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแทนบริษัท ค. และใบสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ตัวแทนของจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่ออนุมัติให้บริษัท ค. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์และโจทก์ได้ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. กับมีการขอรับชำระค่าสินค้าโดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เช่นนี้ จึงเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของบริษัท ค. ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งเป็นคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าวัสดุก่อสร้างตามฟ้อง อย่างไรก็ตามปรากฏว่าโจทก์ได้ไปขอรับชำระค่าวัสดุก่อสร้างในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค. ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งเป็นมูลหนี้ค่าวัสดุรายเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดเงื่อนไขให้ชำระหนี้คดีนี้ไว้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,239,736 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,139,520 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 1,139,520 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างและเป็นลูกค้าของโจทก์ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายเครื่องวัสดุก่อสร้าง ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างมานานประมาณ 10 ปี ก่อนเกิดกรณีพิพาทคดีนี้เมื่อต้นปี 2550 บริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างโรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยซ์ แอนด์ เรสสิเด้นท์ หลังสวนโดยบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากจำเลยในรูปของสินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น โดยทำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เป็นหลักฐาน ตามบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2550 และวันที่ 29 ตุลาคม 2551 วงเงิน 30,000,000 บาท และ 50,000,000 บาท กับสัญญารับชำระหนี้ ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 วันที่ 18 มิถุนายน 2552 วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 และวันที่ 26 สิงหาคม 2552 วงเงิน 30,000,000 บาท 10,000,000 บาท 10,000,000 บาท และ 15,000,000 บาท และจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันค่าวัสดุก่อสร้างที่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สั่งซื้อจากโจทก์ในวงเงิน 5,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 26 มกราคม 2549 และบันทึกต่ออายุสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 18 มกราคม 2550 และวันที่ 30 มกราคม 2551 บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์หลายครั้ง และชำระเงินด้วยตนเอง ต่อมาบริษัทเทค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ประสบภาวะขาดทุนไม่มีเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายจนกระทั่งกลางปี 2551 โจทก์งดขายวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยขณะนั้นค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงินกว่า 10,000,000 บาท หลังจากโจทก์งดส่งวัสดุก่อสร้างแล้วฝ่ายโจทก์โดยนายธงชัย ฝ่ายจำเลยโดยนายอรรถสิทธิ์ บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้ประชุมร่วมกันเพื่อให้การก่อสร้างดำเนินต่อไป โดยจำเลยยังสนับสนุนการเงินอยู่ แล้วจำเลยโดยนายอรรถสิทธิ์ได้มีหนังสือถึงโจทก์ว่ายังสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)ตามหนังสือสนับสนุนทางการเงิน ลงวันที่ 11 กันยายน 2551 หลังจากนั้นโจทก์ได้ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และได้รับชำระค่าวัสดุก่อสร้างเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจำเลยรวม 12 ฉบับ ตามแคชเชียร์เช็ค (12 ฉบับ) ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2553 โจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) คิดเป็นเงิน 1,139,520 บาท แต่ไม่ได้รับชำระค่าสินค้า โจทก์มีหนังสือทวงถามจากจำเลยตามหนังสือทวงถาม (ฉบับที่ 1) จำเลยได้มีหนังสือโต้แย้ง วันที่ 7 มิถุนายน 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ. 29/2552 หมายเลขแดงที่ ฟ. 15/2553 โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 19,287,087.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,586,782.95 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง และหมายแจ้งคำสั่ง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยโดยนายอรรถสิทธิ์ ตกลงชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแก่โจทก์แทนบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไม่ โจทก์มีนายธงชัย เบิกความว่า เมื่อโจทก์งดส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมเมื่อประมาณปี 2551 ระหว่างฝ่ายโจทก์ จำเลย บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเซ็นเตอร์พ้อยส์ แอนด์เรสสิเด้นท์หลังสวน ที่ว่าจ้างให้บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สร้างโรงแรมในโครงการดังกล่าว นายอรรถสิทธิ์ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้พูดรับรองในที่ประชุมว่าจำเลยยังคงสนับสนุนการเงินแก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ต่อไป โดยจำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าวัสดุก่อสร้างแก่โจทก์ จากนั้นบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างต่อ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2551 จำเลยโดยนายอรรถสิทธิ์ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 กันยายน 2551 ถึงโจทก์ยืนยันสนับสนุนเงินทุนทางการเงินแก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในส่วนของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินต่อไปจนเสร็จ แต่ในการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างและชำระค่าวัสดุก่อสร้างนั้น บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะต้องส่งใบสั่งซื้อแต่ละฉบับไปให้จำเลยทำการตรวจสอบรายการก่อนเมื่อตัวแทนของจำเลยอนุมัติจะลงลายมือชื่อ หลังจากนั้น บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะส่งใบสั่งซื้อทางโทรสารแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างแล้ว บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะทำหลักฐานการรับสินค้าและให้โจทก์ออกใบวางบิล (ใบแจ้งหนี้) ให้ชำระภายใน 30 วัน แล้วบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะรวบรวมใบวางบิลโดยออกหลักฐานการรับใบวางบิลเพื่อให้โจทก์นำไปยื่นขอรับเงินจากจำเลยซึ่งจำเลยได้ชำระค่าสินค้าเป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน ตามสำเนาแคชเชียร์เช็ค (12 ฉบับ) เห็นว่า คำเบิกความของนายธงชัยเป็นไปตามลำดับขั้นตอน มีเหตุมีผลและมีเอกสารสนับสนุนมีน้ำหนักให้รับฟัง กล่าวคือ บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์โดยตรงไม่ผ่านจำเลย แต่จำเลยจะทำสัญญาค้ำประกันไว้ และการชำระค่าสินค้า บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ชำระค่าสินค้าโดยตรงแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์งดส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนไม่มีเงินหมุนเวียนจนต้องมีการประชุมระหว่างฝ่ายโจทก์ จำเลย บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปและฝ่ายจำเลยได้ออกหนังสือยืนยันสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนี้วิธีการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าก็เปลี่ยนไป ดังจะเห็นได้จากแคชเชียร์เช็คตามสำเนาแคชเชียร์เช็ค (12 ฉบับ) ก็เป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นภายหลังจากที่มีการตกลงดังกล่าว หากนายอรรถสิทธิ์ไม่รับรองต่อนายธงชัยและที่ประชุม ทั้งยังมีเอกสารยืนยันสนับสนุนทางการเงินแล้วโจทก์คงไม่ส่งวัสดุก่อสร้างให้บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็ปรากฏว่าจำเลยได้ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์เป็นแคชเชียร์เช็คถึง 12 ฉบับ อันเป็นการชำระหนี้ตามข้อตกลงในที่ประชุมนั่นเอง นายอรรถสิทธิ์พยานจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า การสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจำเลยกำหนดขั้นตอนการสั่งซื้อโดยบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องแจ้งให้จำเลยทราบโดยตัวแทนของจำเลยจะลงลายมือชื่อในช่อง ACKNOWLEDGE ก่อนที่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะส่งใบสั่งซื้อสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของนายธงชัย ยิ่งกว่านั้นใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งของ ใบวางบิล และใบรับใบวางบิล ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2553 ก็มีลายมือชื่อของตัวแทนจำเลยในช่อง ACKNOWLEDGE ตรงมุมบนเอกสารดังที่นายธงชัยและนายอรรถสิทธิ์เบิกความ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยโดยนายอรรถสิทธิ์ตกลงชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแก่โจทก์แทนบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จริง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยตกลงชำระค่าวัสดุก่อสร้างแทนบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และใบสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ตัวแทนของจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่ออนุมัติให้บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์และโจทก์ได้ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กับมีการขอรับชำระค่าสินค้าโดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังวินิจฉัยมาแล้ว เช่นนี้ จึงเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่าโจทก์ได้ไปขอรับชำระค่าวัสดุก่อสร้างในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งเป็นมูลหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างรายเดียวกัน จึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขให้ชำระหนี้คดีนี้ไว้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี
พิพากษายืน แต่ถ้าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทเค – เทค คอนสตรัคชั่นจำกัด (มหาชน) แล้ว จำนวนเท่าใด ก็ให้ภาระหนี้ของจำเลยในคดีนี้ลดลงจำนวนเท่านั้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share