แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยลักทรัพย์ จำเลยให้การรับแต่เพียงรับของโจร โจทก์จึงมายื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเป็นว่า จำเลยรับของโจรโดยมิได้แสดงว่า “มีเหตุอันสมควร” ที่โจทก์จะขอแก้ฟ้องแต่ประการใดเลย ดังนี้ เป็นการไม่ชอบด้วย ป.ม.วิ.อาญามาตรา 163 จึงไม่มีทางที่ศาลจะพิจารณาอนุญาตได้ จึงต้อถือว่าคดีเป็นอันไม่มีข้อหาว่าจำเลยรับของโจรจะพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจรไม่ได้ และข้อหาฐานลักทรัพย์ตามคำฟ้องเดิมโจทก์ก็สละเสียแล้ว ไม่มีทางจะลงโทษจำเลยได้เช่นเดียวกัน
ย่อยาว
คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันลักทรัพย์ของนายพรหมมา ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๙๔,๒๙๕
จำเลยทั้งสองให้การว่า ความจริงจำเลยทั้งสองได้รับซื้อของที่จับได้จากจำเลยไว้โดยรู้ว่าเป็นของร้ายที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย
เมื่อจำเลยให้การเช่นนี้แล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่าตามที่โจทก์ ได้ฟ้องจำเลยว่า สมคบกันลักทรัพย์ของนายพรหมมาไปหลายอย่างนั้น โจทก์ขอแก้เป็นว่า ได้มีคนร้ายลักทรัพย์ของนายพรหมมาไป และจำเลยนี้ได้สมคบกันมีครอบครองทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข ๑-๒๐ ไว้โดยรู้สึกว่าเป็นของร้ายที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๒๑ ด้วย
ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่คัดค้านการขอแก้ฟ้อง และขอให้การต่อสู้ตามที่ศาลได้จดสอบไว้แล้วนั้น ศาลชั้นต้นจึงบันทึกว่า เมื่อจำเลยทั้งสองยืนยันเช่นนี้แล้วคดีเป็นอันเสร็จสำนวนและตัดสินว่า จำเลยมีความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๒๑
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำร้องขอแก้ฟ้องนั้นโจทก์จะต้องแสดงว่ามีเหตุอันควรในการขอแก้ แต่คำร้องของโจทก์ในคดีนี้มิได้แสดงเหตุอย่างใดเลย จึงไม่ชอบ และลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๖๓ เห็นได้ว่า ในคดีอาญา การที่โจทก์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง จะต้องปรากฎว่า “มีเหตุอันควร ” เสียก่อน ศาลจึงจะพิจารณาต่อไปว่า เป็นการสมควรที่จะอนุญาตหรือไม่ คดีนี้เดิมโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยลักทรัพย์ แล้วโจทก์มายื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเป็นว่า จำเลยรับของโจร โดยมิได้ปรากฎว่า “มีเหตุอันควร” ที่โจทก์จะขอแก้ฟ้องแต่ประการใดเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นอันไม่มีทางที่ศาลจะพิจารณาต่อไปว่า เป็นการสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้หรือไม่คำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์จึงเป็นอันตกได้ไป คดีเป็นอันไม่มีข้อหาว่าจำเลยรับของโจร จะพิจารณาลงโทษจำเลยฐานรับของโจรไม่ได้ และข้อหาว่าจำเลยลักทรัพย์ตามคำฟ้องเกิน โจทก์ก็สละเสียแล้วไม่มีทางจะลงโทษจำเลยได้เช่นเดียวกัน
จึงพิพากษายืน