คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยผู้ต้องเสียภาษีทราบว่าต้องเป็นภาษีจำนวนเท่าใดแล้ว แต่จำเลยไม่นำเงินภาษีดังกล่าวไปชำระให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชำระค่าภาษีจำนวนดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้กำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) สิ้นสุดลงเสียก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุดแล้ว จำเลยจึงไม่อาจจะยกขึ้นโต้เถียงในชั้นศาลอีกว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เสียก่อนที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้จำเลยมีสิทธิที่จะโต้เถียงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2529 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2529 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีโจทก์ได้ไต่สวนตรวจสอบการเสียภาษีของจำเลยที่ 1 แล้วได้ประเมินให้จำเลยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,253,723.18 บาท และได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยการปิดไว้ ณ สำนักงานชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2531 จำเลยทั้งสองได้ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วแต่ไม่นำเงินค่าภาษีจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1ได้ชำระภาษีให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้วบางส่วน ซึ่งเมื่อคิดหักแล้วยังคงค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และเงินเพิ่มใหม่ตามมาตรา 27 ซึ่งคำนวณถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น3,394,377.38 บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้จำเลยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ได้ไปพบเจ้าพนักงานประเมินทุกครั้งตามหมายเรียกและหนังสือเชิญพบ เป็นการให้ความร่วมมือด้วยดี ควรลดหรืองดเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน3,394,377.38 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบเมื่อวันที่ 7ตุลาคม 2531 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2531 ซึ่งยังไม่ครบกำหนด 30 วัน ที่จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีจำนวนเท่าใดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ต้องเสียภาษีและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ไม่นำเงินภาษีดังกล่าวไปชำระแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระค่าภาษีจำนวนดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องรอให้กำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยทั้งสองจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้สิ้นสุดลงเสียก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อไปว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ตามแต่เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้เสียก่อนที่กำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้สิ้นสุดลงเช่นนี้ จำเลยที่ 1 ก็สามารถต่อสู้คดีได้ว่า การออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการไม่ชอบได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) บัญญัติว่า “เว้นแต่กรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์” จำเลยทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 มกราคม 2532 ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแต่อย่างใดในวันที่จำเลยทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว กำหนดระยะเวลาสามสิบวันที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลดังนั้นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจจะยกขึ้นโต้เถียงในชั้นศาลอีกว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เสียก่อนที่จำเลยทั้งสองจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30(2) ก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะโต้เถียงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้อีก เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้ออื่นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุทธรณ์โต้เถียงการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าไม่ชอบ ซึ่งต้องห้ามดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน

Share