คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่าโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงจำเลย 3 แห่ง คือ ที่บ้านของจำเลย ที่บ้านเช่า และที่โรงรับจำนำของจำเลย แต่ถูกส่งกลับคืนมา โดยฉบับหนึ่งสลักหลังว่า “ผู้รับไม่อยู่ ไม่มีใครรับแทน ส่งไม่ได้คืน” อีกฉบับหนึ่งสลักหลังว่า “ผู้รับไม่อยู่ คนในบ้านไม่มีใครรับแทน ส่งไม่ได้คืน” และอีกฉบับหนึ่งสลักหลังว่า “ผู้รับไม่อยู่ ไม่มีใครรับแทน ส่ง 3 ครั้งแล้ว ส่งไม่ได้คืน” ข้อความที่สลักหลังแสดงว่า มีผู้รับแต่ไม่ยอมรับแทน การส่งไม่ได้เป็นเพราะจำเลยหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับ จึงถือได้ว่าการบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ถึงจำเลยแล้ว
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 130 วรรคแรก การแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์โดยทางจดหมายย่อมมีผลบังคับนับผลแต่เวลาที่ไปถึงจำเลยเป็นต้นไป จำเลยจะได้ทราบข้อความในหนังสือนั้นหรือไม่ การบอกกล่าวก็มีผลเป็นการบอกกล่าวสัญญาเช่าตามมาตรา 566 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าบ้านจากโจทก์เพื่อประกอบการค้าโดยไม่มีกำหนดการเช่า โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ขอให้ขับไล่ และให้จำเลยใช้ค่าเช่าที่ค้างกับค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า เช่าอยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจบอกเลิก การเช่าหรือขับไล่ โจทก์ยังมิได้บอกเลิกการเช่า จำเลยไม่ได้รับหรือทราบการบอกเลิกเช่า จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าเช่า นางเพ็ญศรีไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ และโจทก์ฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยยังไม่ได้รับหนังสือบอกเลิกการเช่า สัญญาเช่ายังไม่ระงับ โจทก์ฟ้องขับไล่ไม่ได้ แต่จำเลยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ ถึงสิงหาคม ๒๕๐๗ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเช่าที่ค้างชำระ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าการแสดงเจตนาบอกเลิกการเช่าของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยแล้ว และพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่ได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้พิพากษาใหม่ แต่ประเด็นเรื่องบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่าโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงจำเลย ๓ แห่ง คือ ที่บ้านของจำเลย ที่บ้านเช่า และที่โรงรับจำนำของจำเลย แต่ถูกส่งกลับคืนมา โดยฉบับหนึ่งสลักหลังว่า “ผู้รับไม่อยู่ ไม่มีใครรับแทน ส่งไม่ได้คืน” อีกฉบับหนึ่งสลักหลังว่า “ผู้รับไม่อยู่ คนในบ้านไม่มีใครรับแทน ส่งไม่ได้คืน” และอีกฉบับหนึ่งสลักหลังว่า “ผู้รับไม่อยู่ไม่มีใครรับแทน ส่ง ๓ ครั้งแล้ว ส่งไม่ได้คืน”
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อความที่สลักหลังทิ้งสามฉบับแสดงว่า มีผู้รับแต่ไม่ยอมรับแทน ฉะนั้น การส่งไม่ได้ จึงเป็นเพราะจำเลยหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับเอง การบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าของโจทก์จึงถือว่าได้ถึงจำเลยแล้ว ที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยยังไม่รู้เรื่องคำบอกกล่าวเลิกการเช่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาของโจทก์โดยทางจดหมายนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐ วรรคแรก ย่อมมีผลนับผลแต่เวลาที่ไปถึงจำเลยเป็นต้น จำเลยจะได้ทราบข้อความในหนังสือนั้นหรือไม่ การบอกกล่าวก็มีผลเป็นการบอกเลิกเช่าตามมาตรา ๕๖๖ แล้ว
พิพากษายืน

Share