แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ตรี วรรคแรก มีความหมายว่า ผู้ส่งของออกจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่ส่งออกก็ต่อเมื่อได้ส่งออกก็ต่อเมื่อได้ส่งของออกสำเร็จ หากส่งของออกไม่สำเร็จก็ไม่ต้องเสียค่าภาษี ดังนั้น ในกรณีผู้ส่งของออกเสียค่าภาษีไว้ก่อนส่งของออกสำเร็จ แต่ภายหลังกลับปรากฏว่า ไม่สามารถส่งของออกได้สำเร็จ ผู้ส่งของออกย่อมมีสิทธิขอคืนค่าภาษีที่ชำระไปแล้วได้ตามวรรคสามของมาตราเดียวกันนี้ ส่วนการชำระภาษีนั้นผู้ส่งของออกมักจะต้องชำระก่อนที่จะส่งของออกสำเร็จวรรคสองของมาตรา 10 ตรี จึงบัญญัติให้คำนวณค่าภาษีตามสภาพของราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ เมื่อผู้ส่งของออกชำระค่าภาษีครบถ้วนในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้แล้ว ก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียค่าภาษีเพิ่มเติมหากมีการขึ้นค่าภาษีในขณะส่งของออกสำเร็จ ทั้งไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าภาษีคืนในกรณีที่มีการลดหรือยกเว้นค่าภาษีในขณะที่ส่งของออกสำเร็จ
จำเลยชำระค่าอากรขาออกสินค้ายางพาราแผ่นรมควันครบถ้วนถูกต้องในขณะที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ออกใบขนสินค้าให้จำเลย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรขาออกเพิ่มเติมเมื่อมีการขึ้นค่าภาษีในขณะส่งของออกสำเร็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินอากรขาออกเพิ่มเติมจำนวน ๖๒,๒๒๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ค้างชำระค่าภาษีอากรขาออก และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนี้ดังกล่าวได้ระงับไปแล้ว ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่าจำเลยต้องรับผิดชำระค่าอากรขาออกเพิ่มจำนวน ๖๒,๒๒๐ บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐ ตรี บัญญัติว่า “ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่ส่งออกเกิดขึ้นในเวลาที่ส่งของออกสำเร็จ
การคำนวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้
การขอคืนค่าภาษีในกรณีที่มิได้ส่งของออกนอกราชอาณาจักรให้กระทำได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน แต่ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ออกใบขนสินค้าให้”
ความหมายตามวรรคแรกของมาตรานี้ก็คือ ผู้ส่งของออกจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่ส่งออกก็ต่อเมื่อได้ส่งของออกสำเร็จ หากส่งของออกไม่สำเร็จก็ไม่ต้องเสียค่าภาษี ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ส่งของออกเสียค่าภาษีไว้ก่อนส่งของออกสำเร็จแต่ภายหลังกลับปรากฏว่าไม่สามารถส่งของออกได้สำเร็จ ผู้ส่งของออกย่อมมีสิทธิขอคืนค่าภาษีที่ชำระไปแล้วได้ตามวรรคสามของมาตราเดียวกันนี้ ส่วนการชำระภาษีผู้ส่งของออกมักจะต้องชำระก่อนที่จะส่งของออกสำเร็จ วรรคสองของมาตรานี้จึงบัญญัติให้คำนวณค่าภาษีตามสภาพของ ราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ ดังนั้น เมื่อผู้ส่งของออกชำระค่าภาษีครบถ้วนในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้แล้ว ก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียค่าภาษีเพิ่มเติมหากมีการขึ้นค่าภาษีในขณะส่งของออกสำเร็จ ทั้งไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าภาษีคืนในกรณีที่มีการลดหรือยกเว้นค่าภาษีในขณะที่ส่งของออกสำเร็จ เจตนารมณ์ของมาตรา ๑๐ ตรี วรรคสองนั้นมุ่งที่จะให้ความสะดวกในการคำนวณค่าภาษีสำหรับเจ้าพนักงานและในการเสียภาษีสำหรับผู้ส่งของออกเพราะจะไม่มีการคำนวณภาษีหรือชำระภาษีหลายครั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความยุ่งยากสำหรับทุกฝ่าย คำสั่งทั่วไปของโจทก์ที่ ๑๓/๒๕๑๖ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๖ ซึ่งคู่ความรับกันว่ายังใช้บังคับอยู่และมีข้อความว่า ใบขนสินค้าขาออกใดที่ได้ชำระอากรไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจะไม่ต้องชำระอากรเพิ่มเติมหรือได้รับเงินค่าอากรคืนถึงแม้ว่าก่อนจะส่งของออกไปจริงได้มีการเปลี่ยนแปลงราคาหรือพิกัดอัตราศุลกากร ทำให้ของชนิดตามใบขนสินค้าขาออกนั้นจะต้องเสียอากรมากขึ้นหรือน้อยลง หรือยกเว้นอากรนั้นก็สอดคล้องกับความหมายและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๑๐ ตรี ดังนั้น คดีนี้เมื่อโจทก์เองก็ยอมรับว่าจำเลยชำระค่าอากรขาออกครบถ้วนถูกต้องในขณะที่ออกใบขนสินค้าให้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรขาออกเพิ่มเติมตามฟ้องโจทก์ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.