แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ร.ส.พ.สาขาจังหวัดขอนแก่นดำเนินงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้จัดการ ร.ส.พ. สาขาจังหวัดอุดรธานี จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของ ร.ส.พ.ประจำอยู่ที่สาขาจังหวัดขอนแก่น จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถร่วมที่นำรถยนต์เข้าร่วมกิจการขนส่งสินค้ากับ ร.ส.พ. จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รักษาเงินของ ร.ส.พ.สาขาขอนแก่น ได้เบียดบังเอาเงินของ ร.ส.พ.ซึ่งอยู่ในหน้าที่รักษาของจำเลยที่ 1 เอง ด้วยวิธีทำหลักฐานเท็จเบิกจ่ายเงินไป โดยให้จำเลยที่ 2 ทำหลักฐานเท็จยื่นต่อจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินค่าขนส่งสินค้า อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานฯ มาตรา 4 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานยังได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตในการขอเบิกจ่ายเงินประเภทที่จะต้องขอเบิกจ่ายต่อ ร.ส.พ.สาขาอุดรธานี ด้วยการทำหลักฐานเท็จเสนอขออนุมัติจ่าย จนผู้จัดการ ร.ส.พ.สาขาอุดรธานีหลงเชื่ออนุมัติให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2 ที่สถานี ร.ส.พ.สาขาอุดรธานี การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้เป็นความผิดตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดส่วนนี้ การกระทำผิดของจำเลยหาต้องด้วยมาตรา 8 ด้วยไม่ และเมื่อเป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ต้องปรับบทด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 อีก
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๑๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒,๘๖,๘๓ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินรวม ๒๖๔,๔๘๑ บาท ๖๒ สตางค์ แก่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คดีได้ความว่า องค์การ ร.ส.พ.เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์รับจ้างขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ทั่วประเทศ การขนส่งมีการใช้รถยนต์ของ ร.ส.พ.และรถยนต์ของเอกชนที่นำเข้ามาร่วมกิจการด้วย ร.ส.พ.มีสาขาทุกจังหวัด ร.ส.พ.สาขาจังหวัดขอนแก่นดำเนินงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้จัดการ ร.ส.พ.สาขาจังหวัดอุดรธานี จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานของ ร.ส.พ.มีตำแหน่งเป็นพนักงานรับส่งสินค้าประจำอยู่ ร.ส.พ.สาขาจังหวัดขอนแก่น จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถร่วมที่นำรถยนต์เข้าร่วมกิจการขนส่งสินค้ากับ ร.ส.พ.ในเขตจังหวัดขอนแก่นทั้งประเภทเหมาหลังและประเภทวิธีด่วนและบุหรี่ สำหรับเงินค่าจ้างถ้าเป็นการขนส่งประเภทเหมาหลัง จะได้ค่าจ้างร้อยละ ๘๘ ของเงินค่าขนส่งแต่ละครั้ง ถ้าเป็นการขนส่งประเภทวิธีด่วนและบุหรี่จะได้ค่าจ้างตามน้ำหนักเป็นกิโลกรัมและคิดตามระยะทางวิธีปฏิบัติการเบิกจ่ายเงินค่าจ้าง จำเลยที่ ๒ ต้องออกใบเสร็จรับเงินจำนวนเงินที่ขอเบิกและแสดงหลักฐานการขนส่งสินค้า จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ตรวจสอบ การขอเบิกประเภทเหมาหลังใช้แบบพิมพ์ ร.ส.พ.๓๓ การขนส่งประเภทวิธีด่วนและบุหรี่ใช้แบบพิมพ์ ร.ส.พ.๘ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำเอกสารเท็จแสดงว่าจำเลยที่ ๒ ขนส่งสินค้าทั้งประเภทเหมาหลังและประเภทวิธีด่วนและบุหรี่ โดยขอเบิกเงินค่าขนส่งเท็จจาก ร.ส.พ.หลักฐานเท็จประเภทเหมาหลัง จำเลยที่ ๑ เบิกจ่ายเงินตามแบบพิมพ์ ร.ส.พ.๓๓ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ลงชื่อเป็นผู้อนุมัติจ่ายเงิน โดยจ่ายจากเงินรายได้ประจำวันของ ร.ส.พ.สาขาจังหวัดขอนแก่นที่อยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ รับไป ส่วนหลักฐานเท็จประเภทวิธีด่วนและบุหรี่ จำเลยที่ ๑ เบิกจ่ายตามแบบพิมพ์ ร.ส.พ.๘ แล้วส่งหลักฐานเท็จนี้ไปขอเบิกเงินเครดิตจากผู้จัดการ ร.ส.พ.สาขาจังหวัดอุดรธานี ผู้จัดการ ร.ส.พ.สาขาจังหวัดอุดรธานีหลงเชื่อหลักฐานเท็จนั้น จึงได้อนุมัติจ่ายเงินเครดิตให้จำเลยที่ ๒ การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ทำให้ ร.ส.พ.เสียหายเป็นเงิน ๒๓๓,๔๘๑ บาท ๖๒ สตางค์ และจำเลยทั้งสองได้เก็บเงินค่าจ้างขนส่งสินค้าที่หน่วยราชการจ้าง ร.ส.พ.สาขาจังหวัดขอนแก่นขนส่งสินค้าไปยังที่ต่าง ๆ หลายครั้งรวมเป็นเงิน ๓๑,๐๐๐ บาท แล้วจำเลยทั้งสองไม่นำส่งเป็นรายได้ของ ร.ส.พ.ตามระเบียบ กลับเบียดบังยักยอกเอาเป็นของตนเสียโดยทุจริต ทำให้ ร.ส.พ.เสียหายเป็นเงิน ๓๑,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๑๑ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๑๑ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖,๘๓ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๘ ซึ่งเป็นกระทงหนัก จำคุก ๑๕ ปี ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๘ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ จำคุก ๑๐ ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินรวม ๒๖๔,๔๘๑ บาท ๖๒ สตางค์ แก่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ได้รับเงินค่าขนส่งสินค้าจากหน่วยงานที่ว่าจ้างให้ ร.ส.พ.ส่งสินค้าแล้วไม่นำส่งเป็นรายได้ของ ร.ส.พ.กลับเบียดบังเอาไว้เป็นจำนวน ๒,๓๔๐ บาทนั้น เป็นความผิดของจำเลยที่ ๑ แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๒๔๔,๙๘๑ บาท ๖๒ สตางค์แก่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ แล้วให้จำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวคืนหรือใช้เงิน ๒,๓๔๐ บาทแก่องค์การรับส่งสินค้าและพัสุดภัณฑ์ นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง และวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยมานั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานของ ร.ส.พ.มีหน้าที่รักษาเงินของ ร.ส.พ.สาขาขอนแก่น ได้เบียดบังเอาเงินของ ร.ส.พ.ซึ่งอยู่ในหน้าที่รักษาของจำเลยที่ ๑ เป็นของจำเลย ด้วยวิธีทำหลักฐานการขอเบิกเงินแบบ “ร.ส.พ.๓๓” เท็จเบิกจ่ายเงินไป และเมื่อได้รับเงินค่าขนส่งสินค้าจากหน่วยงานที่ว่าจ้างให้ส่งสินค้าแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็เบียดบังเอาเสีย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ทั้งสองประการนี้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๔ และเฉพาะการเบียดบังเงินด้วยวิธีทำหลักฐานการขอเบิกเงินแบบ “ร.ส.พ.๓๓” เท็จเบิกจ่ายเงินไปในประการแรกเท่านั้นที่จำเลยที่ ๒ ได้กระทำการอันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดด้วย นอกจากการเบียดบังเงินซึ่งอยู่ในหน้าที่รักษาของตนเองแล้ว เกี่ยวกับเงินค่าขนส่งสินค้าประเภทวิธีด่วนและบุหรี่นั้น จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นพนักงานก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการขอเบิกจ่ายเงินโดยทุจริตด้วยการทำหลักฐานเท็จในแบบ “ร.ส.พ.๘” เสนอขออนุมัติเบิกจ่ายต่อผู้จัดการ ร.ส.พ.สาขาอุดรธานี จนผู้จัดการ ร.ส.พ.สาขาอุดรธานีหลงเชื่ออนุมัติให้จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ ๒ จากเงินเครดิตที่สถานี ร.ส.พ.สาขาอุดรธานี การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ และจำเลยที่ ๒ ก็เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวนี้ การกระทำผิดของจำเลยหาต้องด้วยมาตรา ๘ ดังที่ศาลล่างปรับบทไว้ด้วยไม่ และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามบทมาตราดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ก็ไม่ต้องปรับบทด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ อีก
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ และ ๑๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๔ อันเป็นกระทงหนักที่สุด ให้จำคุก ๑๕ ปี ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามบทมาตราดังกล่าวประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ให้จำคุก ๑๐ ปี นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์