แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานมิได้กำหนดประเด็นเรื่องการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไว้ การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ต้องรับผิดเนื่องจากเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นหรือนอกจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาคดี และเนื่องจากหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหกร่วมรับผิดนั้นเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ในการเข้าทำงานมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ได้ร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ กล่าวคือ เมื่อเดือนเมษายน2537 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานขายของโจทก์สาขาลำพูน โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังทดลองปฏิบัติงานตำแหน่งผู้จัดการสาขาลำพูนได้ตกลงขายรถตู้แบบเออแวน คันหมายเลขเครื่อง ที ดี 25-177950เลขแชซซีส์ วี เจ จี อี 24-020638 สีขาว ให้แก่นายมนตรีกาวิลา ในราคา 579,000 บาท ในหลักการที่ผู้ซื้อต้องชำระเงินดาวน์ก่อนจำนวน 170,000 บาท แต่ได้ส่งมอบรถให้โดยที่นายมนตรียังมิได้ชำระเงินดาวน์ให้ และมิได้ทำหลักฐานการส่งมอบรถไว้อันเป็นการผิดระเบียบของโจทก์อย่างร้ายแรง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และนายมนตรีได้นำรถคันดังกล่าวไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์ จำกัด และแจ้งว่าขายโดยวิธีตัดผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์ เพื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะได้รับเงินรางวัลตอบแทน ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ออกเช็คจำนวน 409,300 บาทให้แก่โจทก์เพื่อซื้อดราฟท์ชำระค่ารถ และจำนวน 9,630 บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์เพื่อเป็นเงินรางวัลตอบแทนจำเลยที่ 2 ได้นำเช็คฉบับแรกไปชำระเป็นค่ารถโดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินทราบว่าเป็นเงินค่าดาวน์รถ 320,000 บาท และค่าเครื่องปรับอากาศ ค่าเจาะดัดแปลง ค่าคอนโซล 89,100 บาทและแจ้งว่าลูกค้าจะชำระเงินสดส่วนที่เหลืออีก 170,000 บาท ภายใน10 วัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันทำเอกสารว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์เป็นผู้ซื้อรถในหลักการเงินสด10 วัน ทำให้พนักงานของโจทก์ทำเรื่องตัดขายรถออกจากสต๊อกภายหลังเมื่อครบกำหนด 10 วัน ลูกค้าไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือ โจทก์จึงได้ทวงถามไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์ ห้างดังกล่าวแจ้งว่าห้ามมิได้ซื้อรถโจทก์แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเป็นการร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ในเงินรางวัลตอบแทนจากบุคคลภายนอกรวมทั้งแจ้งข้อความเท็จเกี่ยวกับผู้ซื้อรถอันเป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่ารถส่วนที่เหลือจำนวน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2537อันเป็นวันที่โจทก์ทำเรื่องตัดขายรถออกจากสต๊อกจนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 18,060 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น188,060 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 188,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 170,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำทำการทุจริตหรือผิดสัญญาจ้างตามฟ้อง และจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ อย่างถูกต้องแล้วดังนั้นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้เพราะในการขายรถคันพิพาทให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์นั้นห้างดังกล่าวโดยนายเฉลิม บินมา ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินเป็นค่าเงินดาวน์จำนวน 170,000 บาท ไว้ให้ฝ่ายบัญชีของโจทก์แล้วและพนักงานของโจทก์เป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ขายแบบระยะเวลาจ่ายเงิน 10 วัน แล้วโจทก์จึงได้ตกลงขายรถไป สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์นั้นได้ตกลงขายรถให้นายมนตรี กาวิลาซึ่งห้างได้ติดต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์ จำกัดเพื่อให้นายมนตรีเป็นผู้เช่าซื้อ บริษัทเงินทุนดังกล่าวจึงได้จ่ายเงินค่ารถให้โจทก์และจ่ายค่านายหน้าให้ห้าง ในเรื่องนี้โจทก์สามารถฟ้องร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์ต้องรับผิดตามเช็คก็ได้แต่ไม่กระทำ แต่กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมิได้กระทำความผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
ข้อ 1. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่
ข้อ 2. จำเลยทั้งหกต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานขาย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลลูกค้าให้เข้าทำการซื้อขายรถยนต์จากโจทก์ และเป็นผู้จัดทำใบขอเช่าซื้อและใบส่งสินค้า ตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการสาขาลำพูน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้การปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการขายให้เป็นไปโดยถูกต้อง ยังคงมีหน้าที่ร่วมกันในการจัดให้ลูกค้าลงชื่อในเอกสารสัญญาซื้อขายและใบส่งมอบรถเพื่อให้ข้อตกลงซื้อขายมีผลผูกพันลูกค้าโดยสมบูรณ์และมีหลักฐานว่าลูกค้าได้รับรถไปจากโจทก์โดยชอบแล้ว แต่ในกรณีจำเลยที่ 1และที่ 2 ละเลยไม่จัดให้มีเอกสารดังกล่าวขึ้น ทำให้เป็นการยากแก่โจทก์ในการใช้สิทธิเรียกร้องจากลูกค้าสำหรับเช็คจำนวนเงิน170,000 บาท ที่ลูกค้าไวได้วางเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้มีการเก็บรักษาเช็คไว้เป็นอย่างดีเพื่อให้สามารถเรียกเก็บเงินได้โดยชอบ แต่ปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่การเงินแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเช็คหายไป จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่รับทราบไว้ และแจ้งว่าจะให้จำเลยที่ 1 ตามทวงหนี้จากลูกค้าเท่านั้น โดยมิได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ทั้งที่เช็คดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญ และเป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวในเรื่องนี้ที่แสดงให้เห็นถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์กับโจทก์ในการซื้อขายรถคันพิพาท พฤติการณ์จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นให้มีการนำเช็คออกไปจากความครอบครองของโจทก์การกระทำของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ขาดหลักประกันที่จะได้รับชำระหนี้ตามกฎหมายนอกจากนี้ในการดำเนินการส่งมอบรถคันพิพาทให้แก่ลูกค้านั้นจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า ได้ส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าตั้งแต่วันที่5 เมษายน 2537 ก่อนลูกค้าจะได้ไปติดต่อขอสินเชื่อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ก่อนที่ฝ่ายสินเชื่อและโจทก์จะอนุมัติให้ตัดขายรถได้และก่อนที่โจทก์จะได้ออกใบส่งสินค้า ซึ่งการกระทำดังกล่าวแม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 แล้ว แต่ก็ฟังว่าเป็นการทำโดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอีกประการหนึ่งแม้จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้รับเงินรางวัลตอบแทนจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์ประมาณ 2,000 บาท และไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับเงินดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม เงินดังกล่าวมีเพียงจำนวนเล็กน้อย และเป็นเงินที่ผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายรถมีสิทธิได้รับกันตามปกติในทางการค้าอยู่แล้วจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตเพื่อหาประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบ อย่างไรก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระค่ารถอีกจำนวน 170,000 บาท แม้โจทก์จะอาจจะใช้สิทธิเรียกร้องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจามเทวีพาณิชย์ได้ แต่โจทก์ก็มีความยากลำบากในการดำเนินการดังกล่าว จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินค่ารถจำนวน 170,000 บาท ให้โจทก์และเนื่องจากเป็นหนี้เงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้โจทก์ รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน188,060 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยตามสัญญาค้ำประกัน พิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 188,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 170,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ที่ 5และที่ 6 อุทธรณ์ว่า เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ทุจริต จำเลยทุกคนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย พิพากษาให้จำเลยทั้งหมดรับผิดเพราะเหตุนี้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่ตั้งไว้นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหกรับผิดโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในระหว่างที่เป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และบรรยายฟ้องต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับรถตู้คันดังกล่าวยินยอมให้ขายรถตู้ตามข้อตกลง และได้ส่งมอบรถตู้ให้แก่นายมนตรี กาวิลา ไปก่อนโดยที่นายมนตรียังไม่ได้ชำระเงินดาวน์ 170,000 บาท ให้ตามข้อตกลง และไม่มีหลักฐานการส่งมอบรถแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการผิดระเบียบของโจทก์อย่างร้ายแรง จะเห็นได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นคือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดสัญญาจ้างโดยทุจริตต่อหน้าที่และกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำทุจริตและมิได้กระทำผิดระเบียบ ศาลแรงงานกลางจึงกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว เมื่อในประเด็นแรกที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่นั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำการโดยทุจริตหรือผิดระเบียบ ดังนั้น โจทก์จะเสียหายหรือไม่ก็ไม่ใช่เกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือผิดระเบียบของจำเลยที่ 1และที่ 2 ส่วนประเด็นข้อสองที่ว่าจำเลยทั้งหกต้องชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ก็เป็นประเด็นที่สืบเนื่องจากประเด็นแรก คือจะต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2กระทำการโดยทุจริตหรือผิดระเบียบเสียก่อน เพราะหากถือว่าประเด็นที่สองไม่ได้สืบเนื่องจากประเด็นแรกก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดประเด็นแรกไว้ ดังนั้นประเด็นแรกจึงถือว่าเป็นประเด็นสำคัญเมื่อมิได้กำหนดประเด็นเรื่องการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไว้ด้วย การวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ที่ 5และที่ 6 ต้องรับผิดเนื่องจากเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นหรือนอกจากที่โจทก์กล่าวในฟ้อง เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาคดี ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6ฟังขึ้น และเนื่องจากหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหกร่วมรับผิดนั้นเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง