แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมทั้งสองลงลายมือชื่อท้ายคำร้องจำเลยวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ว่า โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงยอมรับค่าเสียหายดังกล่าวข้างต้นและได้รับไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องอย่างอื่นอีกและไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป แปลความหมายได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ติดใจหรือประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์อีกต่อไป โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่อาจฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองมาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 288, 295, 297 ริบมีดปอกผลไม้และลูกเหล็กดัมเบลของกลาง
จำเลยให้การว่า กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบและไม่สามารถบังคับตนเองได้
ระหว่างพิจารณา นายจินตวีร์ ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาวเลิศลักษณ์ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 295 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ประกอบกับจำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลโจทก์ร่วมทั้งสองและผู้เสียหายที่ 3 และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้เสียหายที่ 3 จนพอใจและไม่ติดใจเอาความ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี คืนมีดปอกผลไม้และลูกเหล็กดัมเบลของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 และ 295 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรกำหนด เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดพยายามฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสองนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมทั้งสองลงลายมือชื่อท้ายคำร้องจำเลยลงวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ว่า โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงยอมรับค่าเสียหายดังกล่าวข้างต้นและได้รับไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องอย่างอื่นอีกและไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป แปลความหมายได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ติดใจหรือประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์อีกต่อไป โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่อาจฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองมาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้และมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องหรือไม่ และมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยแทงทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยไม่รู้ตัวและไม่รู้สาระสำคัญว่ากำลังแทงทำร้ายโจทก์ร่วมทั้งสองหรือไม่ ซึ่งเห็นควรวินิจฉัยรวมกันไป เห็นว่า ชั้นสอบสวนจำเลยให้การตามบันทึกคำให้การว่า จำเลยไม่รู้สึกตัวว่าได้ใช้อาวุธมีดและลูกเหล็กดัมเบลทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด แต่รายงานการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ คณะผู้ตรวจรักษาได้ประชุมสรุปผลการตรวจว่า ผลการตรวจวินิจฉัยทางนิติเวชในขณะนี้ไม่พบความผิดปกติทางสมองและการนอนหลับที่เป็นสาเหตุของความผิดปกติของพฤติกรรม อันนำไปสู่การก่อคดี เมื่อพิจารณาบันทึกสรุปการประชุมวินิจฉัยทางนิติจิตเวช (แพทย์) ครั้งที่ 2 แล้ว มีแพทย์เข้าร่วมประชุม ลงนาม 6 คน จริงอยู่แม้บันทึกสรุปการประชุมวินิจฉัยทางนิติจิตเวช (แพทย์) ครั้งที่ 1 มีแพทย์เข้าร่วมประชุมลงนาม 7 คน จะให้ความเห็นเรื่อง Sleep Walking และ Sleep Apnea Syndrome แปลว่า การเดินขณะหลับ เดินละเมอ และกลุ่มอาการของโรคที่เกิดขึ้นพร้อมกันจากภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แต่คณะแพทย์ไม่ได้สรุปผลการประชุมดังกล่าว การวินิจฉัยทางคลินิกครั้งที่ 2 ระบุว่า No significant abn. Finding แปลว่า ไม่พบความผิดปกติที่สำคัญ ดังนี้ รายงานการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวช สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพแพทย์โดยเฉพาะแพทย์คนที่ 1 มีตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยว่า จำเลยละเมอกระทำความผิดไม่รู้สำนึกในการที่กระทำ ไม่ได้กระทำโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง ไม่ต้องรับผิดในทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก อันแตกต่างขัดแย้งกับผลการประชุมของคณะแพทย์และได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกแทงที่หลัง 8 แผล หน้าอก 1 แผล รักษาประมาณ 6 เดือน ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้เสียหายที่ 2 ถูกแทงที่หน้าอกซ้ายมีเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอด ถูกแทงบริเวณชายโครงขวาทะลุกระบังลม ตับและกระเพาะ รักษาประมาณ 3 เดือน ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น