คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของที่ดิน มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาให้ใช้ประโยชน์ที่ดินแก่จำเลยแล้ว สัญญาเป็นอันสิ้นสุดลงจำเลยย่อมอ้างไม่ได้ว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินอยู่เมื่อโจทก์ร่วมทำสัญญาให้โจทก์เช่าหลังจากสัญญาดังกล่าวระงับไปแล้ว ต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยลำพัง แต่โจทก์ก็มีสิทธิตามสัญญาเช่าที่โจทก์กับโจทก์ร่วมมีต่อกัน โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477,549 และเมื่อศาลได้เรียกเจ้าของที่ดินเข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินแปลงหมายเลข 1เลขที่ 48 โฉนดเลขที่ 245 พื้นที่ประมาณ 642.59 ตารางวาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยทำสัญญาให้ใช้ประโยชน์เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2529 ชำระค่าใช้ประโยชน์เดือนละ15,000 บาท มีข้อกำหนดว่าถ้าผู้ให้ใช้ประโยชน์ต้องการที่ดินคืนผู้ใช้ต้องส่งคืนที่ดินภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้ให้ใช้แจ้งให้ทราบ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2531 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยขอให้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินภายในวันที่ 31 มกราคม 2532แต่จนบัดนี้จำเลยยังไม่ออกไปจากที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่29 ธันวาคม 2532 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้นำที่ดินแปลงนี้มาให้โจทก์เช่าเพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะในอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,286 บาท แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินที่เช่าได้เพราะจำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ได้มีหนังสือบอกให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะตามโครงการทำให้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กและค่าก่อสร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นจากปี 2533ถึงปี 2535 เป็นเงิน 1,508,490 บาท โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แปลงหมายเลข 1 ตามบัญชีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ณ ตำบลวัดชนะสงคราม ริมถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1,508,490 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดิน กับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่โจทก์ได้ชำระให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปแล้วจำนวน 38,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องถึงวันที่จำเลยและบริวารออกจากที่ดิน และให้ชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ1,286 บาท นับจากเดือนเมษายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดิน
โจทก์ได้ยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องขอให้เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยได้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมโดยไม่มีกำหนดระยะเวลามาก่อนโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์ร่วม แปลงหมายเลข 1 ตามบัญชีของโจทก์ร่วมณ ตำบลวัดชนะสงคราม ริมถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานครและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,038,580 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดิน และให้ใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,286 บาท นับจากเดือนเมษายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินเลขที่ 48 โฉนดเลขที่ 245 ณ ตำบลวัดชนะสงครามริมถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แปลงหมายเลข 1พื้นที่ประมาณ 642.59 ตารางวา เป็นของโจทก์ร่วม เมื่อวันที่22 มกราคม 2529 โจทก์ร่วมได้ทำสัญญากับจำเลยให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินรายละเอียดปรากฏตามสัญญาให้ใช้ประโยชน์ที่ดินฉบับที่ 84/2529 เอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2531โจทก์ร่วมได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ปรากฏตามหนังสือบอกเลิกสัญญาให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เอกสารหมาย จ.2ต่อเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 โจทก์ร่วมได้ทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินดังกล่าวปรากฏตามสัญญาเช่าที่ดิน ฉบับที่ 1026/2532เอกสารหมาย จ.4 แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินที่โจทก์เช่าได้ เนื่องจากจำเลยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินตามฟ้อง ทำให้โจทก์เข้าก่อสร้างเขื่อนตลอดแนวพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำและก่อสร้างสวนสาธารณะในที่ดินตามโครงการไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
จำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นภายหลังจำเลยและเกิดขึ้นขณะที่จำเลยยังมีสิทธิครอบครองที่ดินอยู่ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ด้วยจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วสัญญาให้ใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่บัดนั้น จำเลยย่อมกล่าวอ้างไม่ได้ว่าจำเลยยังคงมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวอยู่ เมื่อโจทก์ร่วมนำที่ดินไปทำสัญญาให้โจทก์เช่าหลังจากสัญญาให้ใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยระงับไปแล้ว และจำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาต้องถือว่าจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินอันเป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของที่ดินไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยลำพัง แต่โจทก์ก็มีสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินที่โจทก์กับโจทก์ร่วมมีต่อกันโจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 477, 549 และเมื่อศาลได้เรียกเจ้าของที่ดินเข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทได้”
พิพากษายืน

Share