แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความมีสาระสำคัญว่า จำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์งวดละ 10,000 บาท งวดแรกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530และงวดต่อไปทุก ๆ 3 เดือน จนกว่าจะครบหนี้ ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ดังนี้ การนับระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องคำนวณตามปฏิทินในราชการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ดังนั้น การชำระหนี้งวดที่ 2 จึงครบกำหนดชำระวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 และงวดที่ 3ครบกำหนดวันที่ 1 สิงหาคม 2530 การที่จำเลยนำเงินงวดที่ 3 ไปชำระให้โจทก์เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2530 เป็นการเลยกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ เป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ และถือว่าเป็นการผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสองโจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีได้ จำเลยอ้างว่า โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยชำระไม่ตรงวันที่1 ของเดือนก็ได้ แต่ไม่ให้ข้ามงวด โจทก์ว่าไม่เป็นความจริงเมื่อโจทก์ไม่ยอมรับว่ามีข้อตกลงกันดังที่จำเลยอ้าง ศาลต้องถือตามที่โจทก์จำเลยได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงิน 71,875 บาทพร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ขอบังคับคดีอ้างว่าจำเลยผิดนัดศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดและงดการขายทอดตลาดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินงวดที่ 3ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ สัญญาประนีประนอมยอมความมีสาระสำคัญว่า จำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์งวดละ 10,000 บาทงวดแรกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 และงวดต่อไปทุก ๆ 3 เดือนจนกว่าจะครบหนี้ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ศาลฎีกาเห็นว่า การนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องคำนวณตามปฏิทินในราชการ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ดังนั้น การชำระหนี้งวดที่ 2 จึงครบกำหนดชำระวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 และงวดที่ 3 ครบกำหนดวันที่1 สิงหาคม 2530 การที่จำเลยนำเงินงวดที่ 3 ไปชำระให้โจทก์เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2530 เป็นการเลยกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้เป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ และถือว่าเป็นการผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับคดีได้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยชำระไม่ตรงวันที่ 1 ของเดือนก็ได้ แต่ไม่ให้ข้ามงวดนั้น โจทก์กล่าวในคำแก้ฎีกาว่าไม่เป็นความจริง เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับว่ามีข้อตกลงกันดังที่จำเลยอ้าง ศาลก็ต้องถือตามที่โจทก์จำเลยได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน