แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้สัญญาซื้อขายที่โจทก์อ้างเป็นพยานต่อศาลจะเป็นเพียง สำเนาเอกสารแต่เมื่อเป็นกรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย ศาลก็ สามารถรับฟังสำเนาสัญญาซื้อขายดังกล่าวประกอบพยานหลักฐาน อื่นของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2519 โจทก์ซื้อที่ดินมือเปล่าตั้งอยู่ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 60 ไร่จากนายสมปอง ลำใยงาม โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ต่อมาเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2534 จำเลยได้บุกรุกเข้ามาในที่ดินดังกล่าวของโจทก์โดยใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ แล้วปลูกต้นมะขามและต้นหน่อไม้ไผ่ตงโจทก์ห้ามปรามแล้ว จำเลยก็เพิกเฉย ขอบังคับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สิน คือ ต้นมะขามหวานและต้นหน่อไม้ไผ่ตงออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 15,000 บาท กับใช้ค่าเสียหายในอัตราปีละ 15,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินพิพาทจากนายสมปองสัญญาซื้อขายที่โจทก์อ้างเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากนายสมปองเขียนหนังสือไม่เป็นจึงลงลายมือชื่อไม่ได้ ความจริงนายสมปองได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลย และจำเลยได้เข้าทำประโยชน์ตลอดมาที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยและบริวารขนย้ายต้นมะขามหวานและต้นหน่อไม้ไผ่ตงออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทของโจทก์อีกต่อไป และใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาท กับค่าเสียหายอัตราปีละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าที่ดินในกรอบเส้นสีแดง เนื้อที่ 23 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาท เอกสารหมาย ล.3 เดิมเป็นของนายสมปอง ลำใยงามคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย เห็นว่าโจทก์ได้เบิกความประกอบสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ว่าเมื่อปี 2519 โจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสมปอง ซึ่งเป็นญาติกับนางเต็มดวงภริยาของโจทก์ รวม 2 แปลงคือแปลงพิพาท เนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ราคา 20,000 บาทกับมอบรถจักรยานยนต์ ให้แก่ผู้ขายอีกหนึ่งคัน และที่ดินอีกแปลงหนึ่ง 20 ไร่ ขณะที่ซื้อที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นป่าไผ่ โจทก์ได้จ้างคนงานถากถางจนเตียนแล้วปลูกข้าวกับงาบนที่ดิน โดยทำอยู่ 3 ปี โจทก์ไปทำงานที่กรุงเทพฯ จึงมอบให้นายตุ๊บไปล่ บิดาของภริยาโจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์เรื่อยมา จนถึงปี 2532 นายชูสิน อินนามาเช่าทำเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ คิดค่าเช่าปีละ 6,000 บาทได้ทำสัญญาเช่าไว้ มีกำนันสามกับนายธงชัยลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเช่า นายชูสินพยานโจทก์ก็เบิกความว่า พยานได้ทำไร่อ้อยในที่ดินของนายโม่งไล้เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้น ปี 2532จึงมาทำไร่อ้อยในที่ดินของโจทก์ โดยทำสัญญาเช่าไว้ 3 ปีคิดค่าเช่าปีละ 200 บาท ต่อหนึ่งไร่ ขณะทำสัญญาเช่ามีผู้รู้เห็น2 คน คือนายสามและนายธงชัย ซึ่งได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเช่าคำของพยานโจทก์จึงสอดคล้องกับคำของโจทก์ดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์มีนายธงชัย ลำใยงาม กับนายสาม เมืองมูล เบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่จากนายสมปอง ลำใยงาม เมื่อซื้อมาใหม่ ๆ โจทก์ปลูกข้าวไร่ข้าวโพด และงา บนที่ดินพิพาท โดยเฉพาะนายสามพยานโจทก์ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกำนัน ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์และรู้เห็นความเป็นมาของที่ดินพิพาททั้งไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียกับคู่กรณี จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าพยานตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นยิ่งกว่านั้นนายเตะเติ๊กหรือโจ ลำใยงามบุตรนายสมปองพยานจำเลยยังเบิกความว่าลายมือชื่อช่องผู้ขายในสัญญาซื้อขายนั้นคล้ายลายมือชื่อนายสมปอง และภายหลังที่มีการสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่แล้ว คือตั้งแต่ปี 2525 โจทก์ก็ได้ยื่นเสียภาษีบำรุงท้องที่เรื่อยมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้ แม้สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างต่อศาลเป็นสำเนาเอกสารก็ตามศาลก็รับฟังประกอบพยานอื่นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) เพราะเป็นกรณีที่ต้นฉบับเอกสารสูญหายซึ่งโจทก์ได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้ตามเอกสารหมาย จ.2ส่วนใบแทน ภ.บ.ท.5 เอกสารหมาย จ.4 และ ภ.บ.ท.5 เอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นฉบับอยู่ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ ที่มีข้อความระบุอาณาเขตที่ดินไว้ในรูปลักษณะที่ดินแตกต่างกันก็ไม่เป็นเหตุพิรุธตามที่จำเลยอ้างเพราะโจทก์ให้เหตุผลว่า ใบแทน ภ.บ.ท.5 เอกสารหมาย จ.1 ที่ทำขึ้นใหม่จึงอาจผิดเพี้ยนไปจากของเดิมบ้างเพราะทำในเวลาต่างกัน และตาม ภ.บ.ท.5 ดังกล่าว เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงรายการสำรวจที่ดินเพื่อเจ้าของที่ดินนำมาคำนวณเสียภาษีบำรุงท้องที่ต่อทางราชการเท่านั้น มิใช่หลักฐานแสดงสิทธิของที่ดินตามกฎหมาย ดังนั้น แม้รายการกับรูปลักษณะที่ดินที่ระบุไว้ใน ภ.บ.ท.5 จะผิดเพี้ยนไปบ้าง ก็ไม่เป็นเหตุให้ลบล้างน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากนายสมปองนั้นจำเลยก็ไม่มีหลักฐานสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อมาแสดงต่อศาล ทั้ง ๆ ที่การซื้อขายที่ดินพิพาทมีจำนวนหลายสิบไร่ และเป็นสิ่งสำคัญในการตกลงซื้อขายที่ดินอันคู่สัญญาจะพึงกระทำเป็นหลักฐานหนังสือไว้มิใช่เพียงแต่ตกลงซื้อขายกันด้วยวาจา และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาท ทั้ง ๆ ที่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมา จึงเป็นข้อพิรุธ กับที่จำเลยอ้างว่าภายหลังซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสมปองแล้วได้ให้นายกีพี่ชายจำเลยทำประโยชน์ ปัจจุบันนายกีถึงแก่ความตายแล้ว ต่อมาให้นายเจริญและนายเสนาะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยหาได้นำนายเจริญและนายเสนาะมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงต่อศาลข้ออ้างของจำเลยเป็นเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน