แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดโดยมีวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในความครอบครองเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2522อันเป็นเวลาหลังจากที่ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนมาตรา 55 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2522 มาตรา 6 ใช้บังคับแล้ว ซึ่งใน มาตรา 55 ที่แก้ไขแล้ว มิได้บัญญัติถึงวัตถุระเบิดสำหรับแต่เฉพาะในการสงครามว่าเป็นความผิดคงบัญญัติถึงประเภท ชนิด และขนาดของวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้หรือไม่เท่านั้นแม้ในวันที่จำเลยกระทำผิดจะมีกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2501) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 ใช้บังคับอยู่แต่กฎกระทรวงดังกล่าวก็มิได้กำหนดว่าวัตถุระเบิดชนิดใดบ้างที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้จึงถือไม่ได้ว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยมีในวันเกิดเหตุเป็นวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจอนุญาตได้แม้ต่อมาจะมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ.2522) ออกตามความใน พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 ใช้บังคับอันจะถือได้ว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเป็นวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตามแต่กฎกระทรวงดังกล่าวประกาศใช้ภายหลังโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดจึงนำมาใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2440 มาตรา 8 ทวิ, 38, 55, 72 ทวิ, 74, 78 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2501 มาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 8 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2518 ข้อ 3,7, 9, 10 ฐานมีวัตถุระเบิด จำคุก 4 ปี ฐานพกพา จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 4 ปี1 เดือน ของกลางริบ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และการกระทำของจำเลยไม่เป็นควาผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2พฤษภาคม 2522 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ 88 บรรพ 61 ของอเมริกัน ใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม มีใช้แต่ในราชการทหารและตำรวจ จำนวน 1 ลูก ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และมีมีดปลายแหลม 1 เล่ม กับปืนแก๊ปยาวประจุปากหมายเลขทะเบียน น.ร. 9/305 ของจำเลยจำนวน 1 กระบอก จำเลยนำของกลางดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะ ในหมู่บ้านดอนกอก ตำบลสูงเนินอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา โดยฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมกับของกลางดังกล่าวนำมาดำเนินคดี ปัญหาชั้นฎีกาที่ว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาฐานมีลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 5 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 8คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 10 กฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2501) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 12 ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดโดยมีวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในครอบครองเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2522 อันเป็นเวลาหลังจากที่พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522ตามมาตรา 6 ใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามมาตรา 55 ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งมิได้บัญญัติถึงวัตถุระเบิดสำหรับแต่เฉพาะในการสงครามว่าเป็นความผิด คงบัญญัติถึงประเภท ชนิด และขนาดของวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้หรือไม่เท่านั้น ในวันที่จำเลยกระทำผิดถึงแม้จะมีกฎกระทรวงฉบับที่ 7(พ.ศ. 2501 ) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2440 ใช้บังคับอยู่ แต่ตามกฎกระทรวงฉบับนี้ก็มิได้กำหนดว่าวัตถุระเบิดประเภทหรือชนิดใดบ้างที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ จึงถือไม่ได้ว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยมีอยู่ในวันเกิดเหตุนั้นเป็นวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจอนุญาตได้ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 55 ถึงแม้ต่อมาจะมีกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ใช้บังคับ อันจะถือได้ว่าวัตถุระเบิดของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเป็นวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตามแต่กฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศใช้ภายหลังที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิด จึงนำมาใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา 55 ประกอบด้วยมาตรา 78 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน