แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 4 บัญญัติว่า “นา”หมายถึงที่ดินซึ่งโดยสภาพใช้เป็นที่เพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ และคำว่า “พืชไร่” หมายความว่าพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและมีอายุสั้นหรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือน
จำเลยปลูกพืชจำพวกพริก หอม กระเทียม ผักกาด คะน้ามันเทศ ถั่วลิสง และมันแกวในที่พิพาท ไม่ได้ปลูกข้าวที่พิพาททั้งสี่ด้านมีต้นมะม่วงปลูกอยู่โดยรอบ ส่วนในที่พิพาทยกเป็นร่องในร่องมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่บนร่องปลูกต้นมันเทศบางร่องมีต้นถั่วฝักยาวปลูกอยู่ที่พิพาทมีคันดินทั้ง 4 ด้าน สูงเกินศีรษะทำไว้เพื่อกันน้ำท่วม แสดงว่าพืชที่จำเลยปลูกบนร่องเป็นพืชที่ไม่ต้องการให้น้ำท่วม เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย พืชที่จำเลยปลูกจึงเป็นพืชไร่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ.2517 และที่ดินที่จำเลยปลูกพืชไร่ย่อมถือว่าเป็น “นา” ตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยอาศัยที่ดินโจทก์ ขอให้ขับไล่
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามฟ้องเป็น “นา” ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 จำเลยเช่าที่นาดังกล่าวจากเจ้าของเดิมเพาะปลูกพืชไร่มีกำหนด 6 ปี โจทก์ซื้อที่พิพาทจากเจ้าของเดิมในระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก่อนขายนาพิพาทเจ้าของเดิมมิได้แจ้งให้จำเลยทราบตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ก่อนขอให้บังคับโจทก์ขายที่นาตามฟ้องแก่จำเลยในราคา 84,500 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่สวนมิใช่ที่นาตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 เจ้าของเดิมและโจทก์ไม่ต้องเสนอราคาที่จะขายแก่จำเลยก่อนขายให้แก่โจทก์ เจ้าของเดิมแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่ประสงค์จะซื้อ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นที่นา จำเลยเช่าที่พิพาทจากเจ้าของเดิมผู้จัดการมรดกของเจ้าของเดิมขายที่พิพาทให้แก่โจทก์และภรรยาโจทก์โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยมีสิทธิซื้อที่พิพาทตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 แต่ปรากฏว่าที่พิพาทนี้มีนางกิมลั้งภรรยาโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมและจำเลยมิได้ฟ้องแย้งนางกิมลั้งไว้ด้วย คดีจึงไม่อาจบังคับนางกิมลั้งได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ขายที่พิพาทอันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กึ่งหนึ่งแก่จำเลยในราคา 42,250 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คำว่า “นา” ที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันนั้น พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 4 กำหนดว่า “นา” หมายความว่าที่ดินซึ่งโดยสภาพใช้เป็นที่เพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ แสดงว่าที่ดินใดใช้ปลูกข้าวหรือพืชไร่ที่ดินนั้นย่อมถือว่าเป็น “นา” ตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว
จำเลยปลูกพืชจำพวกพริก หอม กระเทียม ผักกาด คะน้า มันเทศ ถั่วลิสง และมันแกว ไมได้ปลูกข้าว คดีคงมีปัญหาว่าพืชดังกล่าวเป็นพืชไร่หรือไม่คำว่า “พืชไร่” นั้น มาตรา 4 กำหนดว่า “พืชไร่” หมายความว่า พืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและมีอายุสั้นหรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือน ศาลฎีกาเห็นพ้องตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า พืชไร่ตามความในมาตรานี้คือพืชไร่ซึ่งต้องการน้ำน้อยและมีอายุสั้นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งคือพืชไร่ซึ่งต้องการน้ำน้อยสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือน พืชทั้งสองอย่างเป็นพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยเป็นหลัก
ส่วนข้อโต้เถียงของโจทก์ที่ว่า พืชต่าง ๆ ที่จำเลยปลูกในที่พิพาทดังกล่าวเป็นพืชซึ่งต้องการน้ำมาก โดยต้องรดน้ำทุกวันหากฝนไม่ตกนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบที่พิพาท ปรากฏว่ารอบ ๆ ที่พิพาททั้งสี่ด้านมีต้นมะม่วงปลูกอยู่โดยรอบ ส่วนในที่พิพาทยกเป็นร่อง ในร่องมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่บนร่องปลูกต้นมันเทศบางร่องมีต้นถั่วฝักยาวปลูกอยู่ ประกอบข้อเท็จจริงซึ่งได้ความจากจำเลยว่า ที่พิพาทมีคันดินทั้งสี่ด้าน สูงกว่าพื้นเกินศีรษะทำไว้เพื่อกันน้ำท่วมแสดงว่าพืชที่จำเลยปลูกบนร่องเป็นพืชที่ไม่ต้องการให้น้ำท่วม เป็นพืชซึ่งต้องการน้ำน้อย หาใช่พืชซึ่งต้องการน้ำมากเพราะต้องรดน้ำทุกวัน หากฝนไม่ตกดังโจทก์ฎีกาไม่พืชที่จำเลยปลูกจึงเป็นพืชไร่ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 อนึ่งจำเลยปลูกพืชดังกล่าวในที่พิพาทเต็มทั้ง 22 ไร่ ปลูกบนร่องทั้งหมด 46 ร่อง ไม่ได้ใช้ที่บางส่วนปลูก จึงไม่ใช่พืชจำพวกสวนครัวดังโจทก์ฎีกา
พิพากษายืน