คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1788/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่ถูกเวนคืน เป็นของกระทรวงกลาโหม แต่ภายหลังไม่ได้ถูกใช้ทำกิจการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่เวนคืน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้าของที่ดินผู้วายชนม์จึงได้ฟ้องกระทรวงกลาโหมเรียกที่ดินคืน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาทออกประกาศใช้ ดังนี้ เจ้าพนักงานที่ดินจะปฏิเสธไม่ยอมจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยอ้างว่าได้มีพระราชบัญญัติดังกล่าวออกมาทับหรือระงับคำพิพากษาฎีกานั้นแล้วหาได้ไม่ แท้จริงพระราชบัญญัติดังกล่าวออกมาเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาฎีกานั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๑๒๓๑ ตำบลบุคคโล อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๖ ถึง ๔๗๐/๒๔๙๖ โดยมูลกรณีว่า เดิมที่ดินแปลงนี้นางริ้วมารดาโจทก์เป็นเจ้าของ แต่ได้ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในห้องที่ตำบลบุคคโล ฯ พ.ศ. ๒๔๘๖ และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบุคคลโล ฯ พ.ศ. ๒๔๘๗ ต่อมานางริ้วตาย โจทก์เป็นผู้รับมรดก นับแต่ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปแล้วเกินกำหนด ๕ ปี ทางราชการยังมิได้กระทำเพื่อกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือเพื่อกิจการเหมืองแร่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด โจทก์ทั้งสามจึงได้ฟ้องกระทรวงกลาโหมให้ส่งโฉนดคืน และให้เจ้าพนักงานที่ดิน ฯ โอนโฉนดลงนามโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และมอบโฉนดให้โจทก์ ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ศาลแพ่งได้มีคำสั่งถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีให้จัดการแก้ทะเบียนหลังโฉนดให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่จัดการให้อ้างว่าทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ตามความตอนท้ายของมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ของกระทรวงกลาโหมซึ่งได้มาตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบุคคโล ฯ พ.ศ. ๒๔๘๗ ให้แก่เจ้าของที่ดิน พ.ศ. ๒๕๐๓ ศาลแพ่งได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีให้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลต่อไป เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีกลับมีหนังสือถึงโจทก์ว่าการโอนที่ดินโฉนดที่ ๑๒๓๑ นี้ เป็นการโอนตามพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ของกระทรวงกลาโหม ฯ ให้แก่เจ้าของเดิม พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งกรมที่ดินได้มีคำสั่งวางระเบียบวิธีการไว้แล้ว เมื่อปรากฏว่านางริ้วเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมไว้วายชนม์ไปแล้ว ก็ให้ทายาทมาติดต่อขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการต่อไป และต้องประกาศมรดกให้ทายาทเจ้าของที่ทราบ และจดทะเบียนประเภทมรดกมิใช่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์ไม่เห็นด้วยดังที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีอ้าง จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดที่ ๑๒๓๑ ลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาล
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี
ในวันชี้สองสถาน โจทก์รับว่านายเจริญเป็นทายาทของนางริ้วเช่นเดียวกับโจทก์และโจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำให้การและหลักฐานที่อ้างอิง แล้วต่างแถลงไม่สืบพยาน
ศาลแพ่งพิาพากษาให้จำเลยทั้งสองจัดการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๑๒๓๑ ลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ของกระทรวงกลาโหม ฯ ให้แก่เจ้าของเดิม พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๓ และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัตินี้ ย่อมเห็นได้อยู่ชัด ๆ แล้วว่า ที่ดินที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทำการโอนในคดีนี้ได้มีกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกเวนคืนกลับคืนให้แก่เจ้าของเดิมแล้ว การที่จำเลยโต้แย้งว่าพระราชบัญญัตินี้ออกมาทับหรือระงับคำพิพากษาที่ให้คืนที่โจทก์นั้น เห็นว่ากลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม คือ พระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วออกมาเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกานั่นเอง หาใช่เพื่อลบล้างคำพิพากษาฎีกาไม่ ฯลฯ และเห็นต่อไปว่าพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๓ ให้โอนคืนแก่เจ้าของเดิมตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้หรือทายาท เมื่อโจทก์เป็นทายาทของนางริ้วเจ้าของเดิมและได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ ๑๒๓๑ ตามคำพิพากษา ก็ชอบที่จ่ำเลยจะปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่มีพระราชบัญญัติเวนคืนสนับสนุน ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทั้งสามในคดีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องกระทรวงกลาโหมเป็นจำเลยเรียกที่ดินรายนี้ตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว และศาลฎีกาได้พิพากษาให้กระทรวงกลาโหม จำเลยคืนที่ดินรายนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งคำพิพากษาของศาลฎีกานี้ก็ได้มีพระราชบัญญัติออกมา เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่ ๆ จะต้องจัดการโอนที่ดินรายนี้ให้แก่โจทก์ หาชอบที่จะมาห่วงระวังรักษาผลประโยชน์ของนายเจริญซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นทายาทคนหนึ่งของนางริ้วทั้ง ๆ ที่นายเจริญหาได้ปรากฎตัวเข้ามาเป็นคู่ความ ทั้งในคดีก่อนนี้และคดีนี้แต่ประการใดไม่ หากนายเจริญจะมีสิทธิในฐานะทายาทของนางริ้วอย่างไร ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกับโจทก์เอาเองได้ ฯลฯ พิพากษายืน

Share