คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786-1787/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเพียงแต่ชักปืนจากเอว ยังไม่ทันได้ยกจ้องยิงไปทางผู้เสียหาย ก็ถูกผู้เสียหายใช้สันมีดตีศีรษะจนปืนหลุดจากมือ การลงมือจึงยังไม่เริ่มต้นขึ้น จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่า
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 บัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด นำไปขอรับอนุญาตหรือนำไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้แล้วแต่กรณีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ เมื่อคดียังอยู่ในระหว่างเวลา 90 วัน ก็ต้องถือว่าในระหว่างระยะเวลานี้ กฎหมายได้ยกเว้นโทษให้แก่จำเลยแล้ว ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ และไม่ริบของกลาง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นจ้องยิงนายสว่าง โดยเจตนาฆ่า จำเลยลงมือแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เนื่องจากนายสว่างได้ใช้พร้าตีและเข้ากอดปล้ำจนอาวุธปืนหลุดจากมือจำเลย จำเลยจึงยิงไม่ได้สมดังเจตนา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และริบปืนกับกระสุนของกลาง

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้น 1 กระบอกพร้อมด้วยกระสุนปืนลูกซอง 2 นัด และมีลูกระเบิดมือสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม 1 ลูกไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8, 55, 72, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 5, 8 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 และริบของกลาง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8, 55, 72, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 5, 8 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55 ประกอบด้วยมาตรา 78 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดให้จำคุก 5 ปี และจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วย มาตรา 80 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก12 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 17 ปี ของกลางริบ

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ลงโทษจำคุก 1 ปี กระทงหนึ่งและมีความผิดฐานมีลุกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 5, 8 ลงโทษจำคุก 4 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมเป็นโทษจำคุก 5 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาพยายามฆ่านอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์สำนวนแรกฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า

จำเลยสำนวนหลังฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของโจทก์สำนวนแรกว่า จำเลยเพียงแต่ชักปืนออกจากเอว ยังไม่พร้อมที่จะเล็งยิงไปยังผู้เสียหายอันเป็นเป้าหมาย จำเลยก็ถูกผู้เสียหายใช้สันมีดตีศีรษะจำเลยปืนหลุดจากมือเสียก่อน จำเลยจึงหมดโอกาสที่จะเล็งไปยังผู้เสียหายอันเป็นเป้าหมายโดยเจตนาที่จะยิง การลงมือยิงจึงยังไม่เริ่มต้นขึ้น การกระทำของจำเลยจึงไม่พอถือได้ว่าเข้าขั้นเป็นพยายามกระทำผิด

ส่วนฎีกาของจำเลยสำนวนหลังนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บัดนี้ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3, 4, 5 บัญญัติความว่า ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไม่ว่าชนิดหรือขนาดใด ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือที่ไม่อาจอนุญาตได้ตามกฎหมาย หรือที่สำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามนำไปขอรับอนุญาตหรือนำไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างเวลา 90 วันดังกล่าว จึงต้องถือว่าในระหว่างระยะเวลานี้กฎหมายได้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ

พิพากษาแก้ว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ด้วย ของกลางไม่ริบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share