คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำชื่อทางการค้าคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” ของโจทก์ไปใช้ในเชิงธุรกิจ เมื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกิจการเช่นเดียวกับกิจการของโจทก์หรือบริษัทในเครือ จึงมีโอกาสที่สาธารณชนจะหลงผิดเข้าใจว่า กิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นกิจการในเครือ หรือเป็นสาขาหรือมีส่วนสัมพันธ์กับโจทก์ จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งเป็นการจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอาจทำให้สาธารณชนเกิดความหลงผิดได้ โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ชื่อดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 421 และตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ.2538 ข้อ 20 (8)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นประกอบอาชีพผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและสินค้าอื่นๆ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” ซึ่งเป็นเสียงอ่านในภาษาไทยของชื่อทางการค้าคำว่า “HITACHI” โดยโจทก์ได้คิดประดิษฐ์ชื่อทางการค้าดังกล่าวขึ้น และใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวในการประกอบกิจการค้าเกี่ยวข้องกับสินค้าของโจทก์มาเป็นเวลานานหลายสิบปี และใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นภาคส่วนสาระสำคัญของชื่อนิติบุคคลของโจทก์ด้วย นอกจากนี้ โจทก์ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” เพื่อใช้กับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและสินค้าอื่นๆ หลายชนิด ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวนำมาใช้และได้รับการโฆษณาเผยแพร่อย่างกว้างขวางจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายของสาธารณชนทั่วไป โดยเฉพาะเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่สาธารณชนไทยมาเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 40 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และนางสาวดวงกมล หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อีกคนหนึ่งได้ร่วมกันนำคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปยื่นขอจองชื่อนิติบุคคล และขอจดทะเบียนเป็นภาคส่วนสาระสำคัญของชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 4 ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อนิติบุคคลว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามฮิตาชิ มอเตอร์ เซลส์” และมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “SIAM HITACHI GROUP LIMITED PARTNERSHIP” เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2546 ถึงวันที่ 21พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ได้นำชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปยื่นขอจองชื่อนิติบุคคลและขอจดทะเบียนเป็นภาคส่วนสาระสำคัญของชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 3 ต่อจำเลยที่ 4 ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อนิติบุคคลว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามฮิตาชิ กรุ๊ป” มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “SIAM HITACHI MOTOR SALES LIMITED PARTNERSHIP” การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 รับจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลแล้ว แต่จำเลยดังกล่าวเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียใหม่โดยมิให้ใช้คำว่า “HITACHI” คำว่า “ฮิตาชิ” หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับคำดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมดำเนินการก็ให้จำเลยที่ 4 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1และที่ 3 ออกเสียจากทะเบียน หากจำเลยที่ 4 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ หรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ รวมทั้งชื่อทางการค้าและเครื่องหมายอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งนี้ไม่ว่ากับกิจการค้า สินค้า หรือบริการใดใดทั้งสิ้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นขอจองชื่อและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามฮิตาชิ มอเตอร์ เซลส์” และ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามฮิตาชิ กรุ๊ป” โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายไม่ได้นำชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” ของโจทก์ไปเป็นภาคส่วนสาระสำคัญในการจองชื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่อย่างใด ชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 3 แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด การประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์หรือได้รับความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะมาควบคุมคุณภาพของบริการหรือสินค้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็มิได้ส่งผลกระทบไม่ว่าในทางใดๆ กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ นายยาซุโอะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารกลุ่มทรัพย์สนทางปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่กรรมการผู้จัดการที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2538 อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และไม่มีส่วนได้เสียกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่อย่างใด ชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เหมือนหรือเรียกขานตรงกับชื่อโจทก์ไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความหลงผิด คำว่า “HITACHI” เป็นคำธรรมดาที่ไม่มีความหมายและไม่มีลักษณะเฉพาะ อีกทั้งเป็นชื่อสามัญทั่วไปของบุคคลในประเทศญี่ปุ่น และในประเทศไทยก็มีคนใช้ชื่อนี้อยู่จำนวนหนึ่ง สินค้าของโจทก์ไม่ได้แพร่หลายตามฟ้อง ชื่อทางการค้าไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองและไม่มีกฎหมายใดห้ามรับจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลที่ซ้ำกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เสียใหม่ โดยมิให้ใช้คำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” หากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่ยอมดำเนินการ ให้จำเลยที่ 4 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ออกจากทะเบียน (ที่ถูก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก) ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสี่ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ใช้ชื่อทางการค้า คำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” ในการประกอบกิจการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล และสินค้าอื่นๆ โดยมีบริษัทในเครือหรือสาขาของโจทก์ในประเทศไทย รวมทั้งได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ด้วย ปรากฏตามหนังสือรับรอง บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น และหนังสือรับรองรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมายจ.6 ถึง จ.41 และจ.67 นอกจากนี้โจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปประดิษฐ์ ปรากฏตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.71 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยมีคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” อยู่ในชื่อนิติบุคคลด้วย ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 4 ตรวจสอบชื่อนิติบุคคลดังกล่าวและรับจดทะเบียนให้ จำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจคล้ายโจทก์และบริษัทในเครือของโจทก์ รวมทั้งรับติดตั้งลิฟต์ด้วย
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการแรกเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การของตนเอง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตร 225 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 4 จะให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องนี้ และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยให้แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่หยิบยกขึ้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 4 ดังนั้น แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับอุทธรณ์ข้อนี้มาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่วินิจฉัยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการต่อไปมีว่า คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้วหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่า คำว่า “ฮิตาชิ” เป็นคำธรรมดาสามัญทั่วไป สินค้าของโจทก์ไม่ได้แพร่หลายในประเทศไทย และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ชื่อนิติบุคคลโดยสุจริต ในประเด็นนี้โจทก์มีนายรุทรผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายธีรสุวัฒน์ผู้จัดการบริษัทในเครือของโจทก์มาเบิกความประกอบเอกสารต่างๆ ยืนยันว่า โจทก์ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” มาเป็นเวลานานรวมทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ด้วย จนชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป โดยเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” มาใช้เป็นชื่อทางการค้าและส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลภายหลังจากที่โจทก์ใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวแล้ว เป็นเจตนาที่ไม่สุจริต โดยเป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อทางการค้าของโจทก์ ทั้งในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับกิจการของโจทก์ และมีการนำชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO 14001 และ ISO 9001 ของโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นไปใช้และกล่าวอ้าง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีสิทธิใช้ชื่อนิติบุคคลได้เนื่องจากได้รับการจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ลอกเลียนชื่อทางการค้าของโจทก์ คำดังกล่าวเป็นคำสามัญไม่ใช่คำที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ทั้งเป็นเพียงการนำชื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ประกอบการค้ามาประกอบเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ เห็นว่า โจทก์มีพยานหลักฐานมาแสดงว่า โจทก์ได้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” มาก่อน และประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล และสินค้าอื่นๆ ในนานาประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจนเป็นที่รู้จักทั่วไป ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.59 ถึง จ.65 โดยประดิษฐ์ชื่อทางการค้าดังกล่าวขึ้นมา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งพยานหลักฐานของโจทก์ เพียงกล่าวอ้างลอยๆ ว่าคำว่า “ฮิตาชิ” ไม่ใช่คำที่แพร่หลายในประเทศไทย ทั้งข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เรื่องที่โจทก์ไม่มีสิทธิควบคุมดูแลคุณภาพสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะโต้แย้งได้ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักดีกว่าและรับฟังได้ว่า โจทก์ใช้คำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” เป็นชื่อทางการค้าในการประกอบธุรกิจมาเป็นเวลานานทั้งในและต่างประเทศ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป
สำหรับประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” มาใช้โดยสุจริตหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” มาเป็นเวลานาน ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำสืบได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ชื่อนิติบุคคลตั้งแต่ปี 2540 และ 2546 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ใช้ชื่อทางการค้าของตนมาแล้วเป็นเวลานานโดยไม่ปรากฏเหตุผลชัดเจนในการนำคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” ซึ่งไม่ใช่คำในภาษาไทยมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคล แต่บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของจำเลยที่ 2 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในการจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็เป็นเพียงการนำเอาชื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 (ที่ถูกประกอบการค้า) มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น” แสดงให้เห็นว่า ชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนหนึ่งเป็นชื่อสินค้าและจำเลยที่ 2 ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานประกอบกิจการขายลิฟต์และติดตั้งลิฟต์เป็นเวลากว่า 20 ปี แล้วพยานไม่เคยขายลิฟต์ยี่ห้อ “ฮิตาชิ” พยานไม่ได้เป็นตัวแทนของโจทก์เพียงแต่บุคคลอื่นนำเข้ามาและพยานนำมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่งพยานนำเครื่องหมายการค้า “ฮิตาชิ” ใส่ในนามบัตรเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่พยานนำเครื่องหมาย ISO มาใส่ไว้ เพราะพยานจำหน่ายสินค้าของ “ฮิตาชิ” ด้วย เห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับเป็นผู้ขอจองชื่อนิติบุคคลดังกล่าว รู้จักชื่อทางการค้าของโจทก์ แต่ก็ยังมีการนำชื่อทางการค้าของโจทก์ไปใช้ในเชิงธุรกิจ เมื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกิจการเช่นเดียวกับกิจการของโจทก์หรือบริษัทในเครือ จึงมีโอกาสที่สาธารณชนจะหลงผิดเข้าใจว่า กิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นกิจการในเครือ หรือเป็นสาขาหรือมีส่วนสัมพันธ์กับโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำคำว่า “HITACHI” และ “ฮิตาชิ” มาใช้จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต อนึ่ง การที่จำเลยที่ 3 นำชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้ารวมถึงตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรมของโจทก์ไปใช้ในทางการค้า สอดคล้องกับพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบถึงความสับสนหลงผิดของผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับของโจทก์และบริษัทในเครือปรากฏตามภาพถ่ายลิฟต์และหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเอกสารหมาย จ.97 ถึง จ.99 พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถือว่า การใช้ชื่อนิติบุคคของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งเป็นการจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอาจทำให้สาธารณชนเกิดความหลงผิดได้ โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ชื่อดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 421 และตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ.2538 ข้อ 20 (8) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 4 จะได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว ก็ชอบที่จะเพิกถอนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกจากทะเบียนเสีย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share