คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ และให้จำเลยที่ 1 คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 1524 ตำบลสระประดู่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบุรี แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่คืน ขอให้มีคำสั่งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาวิเชียรบุรี ออกใบแทนโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์แทน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 1524 ตำบลสระประดู่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 1524 ตำบลสระประดู่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นิติกรรมที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียกรรม เมื่อโจทก์บอกล้างแล้ว นิติกรรมก็ตกเป็นโมฆะ ทั้งสองฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้จนกว่าโจทก์จะคืนเงินมัดจำแก่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใด ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้น นิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ได้วางเงินมัดจำแก่โจทก์เป็นเงิน 3,500,000 บาท จริงหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินเลขที่ 1524 หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้งในคำให้การ แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ได้รับเงินมัดจำจำนวน 3,500,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ครบถ้วน ดังนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยว่าสัญญาพิพาทตามฟ้องถูกบอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆะ คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ศาลก็ต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 วางเงินมัดจำแก่โจทก์จริงหรือไม่ หากเป็นความจริงจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงอันเป็นอำนาจตามกฎหมายที่จะไม่ยินยอมคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวข้องต่อเนื่อง จึงต้องวินิจฉัยฎีกาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ให้สิ้นกระแสความ เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีอาชีพรับราชการ ตำแหน่งศึกษานิเทศน์ การที่จำเลยที่ 1 จะให้บุคคลใดกู้เงินเป็นจำนวนมาก เชื่อว่า จำเลยที่ 1 จะต้องตรวจสอบประวัติ อาชีพ รวมทั้งโอกาสที่จำเลยที่ 1 จะได้รับชำระเงินกู้คืนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์ ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และตามคำร้องเอกสาร จำเลยที่ 1 ทราบดีโจทก์ยังเป็นนักศึกษา ไม่มีอาชีพ และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินมากถึงขนาดนั้น ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่า ในการกู้เงินแต่ละครั้งนั้น โจทก์ไม่เคยชำระเงินที่กู้ไปในครั้งก่อน ๆ แก่จำเลยที่ 1 เลย ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ายินยอมให้โจทก์กู้เงินไปหลายครั้งรวม 3,000,000 บาท จึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยและไม่น่าเชื่อถือ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างภาพถ่ายเป็นภาพในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยโจทก์รับเงินจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท แต่ในภาพมีภาพของจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะในภาพถ่ายแผ่นที่ 3 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 รับเงินแทนโจทก์ ซึ่งไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะให้จำเลยที่ 3 มารับเงินแทนและยังเป็นหลักฐานที่ขัดแย้งกันเองอีกด้วย นอกจากนี้ในสัญญาจะซื้อจะขาย กำหนดให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาต แต่ในข้อ 4. กลับระบุให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายหากโจทก์ผิดสัญญาเป็นเงินถึง 10,000,000 บาท อีกด้วย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่มีเหตุผลและน้ำหนัก แต่กลับส่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ได้ร่วมกันข่มขู่หลอกลวงโจทก์ โดยอาศัยที่โจทก์เป็นผู้เยาว์ ไม่มีบิดามารดา และยังมีเรื่องผิดใจกับนายจันทร์เที่ยง ซึ่งเป็นผู้ปกครอง ต้องพักอาศัยกับบุคคลอื่น ให้อยู่ในสภาวะจำยอมต้องลงลายมือชื่อในสัญญาจะขายที่ดินโดยกำหนดเงินมัดจำและค่าเสียหายเป็นจำนวนสูงมากโดยไม่เป็นความจริงเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้ที่ดินในราคาถูก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าไม่มีการวางเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายแก่โจทก์ เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่โจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องคืนเงินมัดจำแก่จำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินเลขที่ 1524 ไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share