คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 167 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ .2522 มีความหมายว่ารถยนต์ที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้ และครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้แล้ว ก็ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อรถตามฟ้องเสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้ในปี 2522 และครบกำหนดเมื่อสิ้นปีนั้น รถคันดังกล่าวจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นไป เมื่อรถคันนั้นไม่เสียภาษี กรมการขนส่งทางบกซึ่งมีหน้าที่ในการนี้ย่อมมีอำนาจเรียกเก็บภาษีย้อนหลังไปจนถึงวันที่จะต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษีที่ค้างชำระตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 ที่จะต้องชำระก่อนถึงวันที่ต้องชำระภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ได้
รถตามฟ้องเจ้าของเดิมเคยนำมาขออนุญาตประกอบการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 ขณะนั้นกรมการขนส่งทางบกมีอำนาจเพียงพิจารณาออกใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่ง ไม่มีอำนาจในการรับจดทะเบียนรถยนต์บรรทุก การที่โจทก์ขอให้กรมการขนส่งทางบกโอนทะเบียนจากเจ้าของเดิมมาเป็นของโจทก์ และขอเปลี่ยนประเภทจากรถยนต์บรรทุกสาธารณะมาเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการจดทะเบียนใหม่ โจทก์จะเสียภาษีนับแต่งวดที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นไปดังที่มาตรา 86 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 บัญญัติไว้หาได้ไม่ เมื่อไม่มีการจดทะเบียนรถใหม่ โจทก์จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนทะเบียนจากเจ้าของเดิมมาเป็นของโจทก์ และค่าเปลี่ยนประเภทจากรถยนต์บรรทุกสาธารณะมาเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินค่าภาษีรถยนต์จำนวน ๑๖,๓๒๙ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้หลายประการและว่ารถพิพาทค้างชำระภาษีรถยนต์ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๓ ตลอดมา จำเลยทั้งสามจึงมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกเก็บภาษีที่ค้างชำระให้ครบถ้วนจากโจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่ความอุทธรณ์ได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงว่า รถตามฟ้องเดิมเป็นของบริษัทยิบอินซอย จำกัด ที่มีผู้เช่าซื้อมาร่วมประการขนส่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ.อนันต์ขนส่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประเภทรถบรรทุกสาธารณะจากกรมการขนส่งทางบกตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ห้างหุ้นส่วนนั้นจึงดำเนินการให้กรมการขนส่งทางบกตรวจสภาพ แล้วเจ้าของได้นำไปจดทะเบียนและชำระภาษีต่อนายทะเบียนยานพาหนะกรมตำรวจ และในที่สุดกรมการขนส่งทางบกได้ออกใบอนุญาตให้ใช้รถคันนั้นประกอบการขนส่งประเภทรถบรรทุกสาธารณะตามที่ขอได้รถตามฟ้องชำระภาษีไว้เพียงปีเดียวคือปี ๒๕๒๐ แล้วขาดการชำระภาษีตลอดมาโดยมิได้แจ้งหยุดการใช้รถ ปี ๒๕๓๐ โจทก์ซื้อรถคันนั้นจากบริษัทยิบอินซอย จำกัด ผู้เป็นเจ้าของ แล้วขอให้จำเลยที่ ๓ โอนทะเบียนจากเจ้าของเดิมมาเป็นของโจทก์ และขอเปลี่ยนประเภทจากรถยนต์บรรทุกสาธารณะมาเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลกับได้เสียภาษีสำหรับปี ๒๕๒๑ ถึง ๒๕๒๒ ต่อนายทะเบียนยานพาหนะกรมตำรวจ และได้เสียภาษีย้อนหลัง ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ควารต้องเสียแต่ฝ่ายจำเลยมีคำสั่งให้แก่จำเลยที่ ๓ จนถึงปี ๒๕๒๓ คดีมีปัญหาว่าจำเลยที่ ๓ มีอำนาจเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๗ วรรคแรกบัญญัติว่า รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่ารถยนต์ที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้ และครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้แล้วก็ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อรถตามฟ้องเสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้ในปี ๒๕๒๒ และครบกำหนดเมื่อสิ้นปีนั้น ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวแล้ว รถคันนั้นจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นไป เมื่อรถคันนั้นไม่เสียภาษี จำเลยที่ ๓ ซึ่งมีหน้าที่ในการนี้ย่อมมีอำนาจเรียกเก็บภาษีย้อนหลังไปจนถึงวันที่จะต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษีที่ค้างชำระตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่จะต้องชำระก่อนถึงวันที่ต้องชำระภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ได้ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่ารถตามฟ้องเจ้าของเดิมเคยนำมาขออนุญาตประกอบการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ขณะนั้น จำเลยที่ ๓ มีอำนาจเพียงพิจารณาออกใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่ง ไม่มีอำนาจในการรับจดทะเบียนรถยนต์บรรทุก จึงถือได้ว่าการที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๓ โอนทะเบียนจากเจ้าของเดิมมาเป็นของโจทก์ และขอเปลี่ยนประเภทจากรถยนต์บรรทุกสาธารณะมาเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลเป็นการจดทะเบียนใหม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจดทะเบียนใหม่ โจทก์จะต้องเสียภาษีนับแต่งวดที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เป็นต้นไป ดังที่มาตรา ๘๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ดังที่โจทก์อุทธรณ์หาได้ไม่ เมื่อไม่เป็นการจดทะเบียนใหม่ดังที่กล่าวแล้ว โจทก์จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนทะเบียนจากเจ้าของเดิมมาเป็นของโจทก์และค่าเปลี่ยนประเภทจากรถยนต์บรรทุกสาธารณะมาเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ด้วย
พิพากษายืน.

Share