แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนที่โจทก์ซึ่งเป็นคนงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะถูกตำรวจจับมาฟ้องคดีอาญาในข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร โจทก์กับคนงานการรถไฟฯได้มีการหยุดงานกันมาก่อน แต่จำเลยคือการรถไฟฯไม่ได้สั่งพักงานโจทก์เพราะพฤติการณ์ดังกล่าวนี้หากแต่เห็นโจทก์มีปฏิกิริยาอื่นต่อมาจนตำรวจจับมาฟ้องการรถไฟฯจึงสั่งพักงานโจทก์ ในที่สุดได้ความชัดว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดทางอาญา แม้ว่าโจทก์จะได้กระทำผิดทางวินัยแต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการสอบสวนโจทก์ตามระเบียบการของการรถไฟฯฉบับที่ 7 ข้อ 7,9 เช่นนี้ โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าการรถไฟฯจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้โจทก์ การที่การรถไฟฯจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเอง จะปรับให้โจทก์รับผิดในการกระทำของการรถไฟฯจำเลยนั้นไม่ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2501)
ย่อยาว
คดี 6 สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างแรงงานระหว่างถูกจำเลยสั่งพักงาน
จำเลยต่อสู้หลายประการโดยเฉพาะว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานไปเอง ทั้งยังได้เป็นหัวหน้ายุยงและชักชวนพวกคนงานอื่น ๆ ของจำเลยให้ละทิ้งหน้าที่การงานไปด้วย จำเลยพยายามชี้แจงและสั่งให้โจทก์กับพวกกลับเข้าทำงานโดยดี แต่โจทก์ก็ขัดคำสั่งของจำเลย หาได้กลับเข้าทำงานตามเดิมไม่คงละทิ้งงานตลอดมา
ในการชี้สองสถาน คู่ความได้แถลงรับกันว่า “ฯลฯ โจทก์จำเลยรับกันต่อไปว่า ก่อนที่โจทก์ทั้ง 6 จะถูกจับมาฟ้องในคดีอาญาแดงที่ 1431/2496 นั้น โจทก์กับคนงานของจำเลยได้มีการหยุดงานกันมาก่อนแต่จำเลยไม่ได้สั่งพักงานโจทก์ทั้ง 6 เพราะพฤติการณ์ดังกล่าว หากแต่โจทก์มีปฏิกิริยาอื่นต่อมา จนตำรวจจับมาฟ้อง จำเลยจึงสั่งพักงานโจทก์ ฯลฯ
ประเด็นข้ออื่นจำเลยไม่ได้แถลง คดีจึงมีประเด็นเฉพาะว่า การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์แล้วนั้น โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างแรงงานหรือไม่
ศาลฎีกาพิพาษายืนตามศาลล่างทั้งสอง ให้จำเลยใช้ต้นเงินแก่โจทก์ทุกคนพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2497 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ตามระเบียบการของการรถไฟฯ ฉบับที่ 7 ข้อ 7 ว่า “คนงานผู้ใดมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษหรือความผิดฐานประมาท ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าจะให้คงอยู่ในหน้าที่การงานระหว่างสอบสวนหรือเป็นการเสียหายแก่กิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วจะให้ผู้นั้นพักงานเพื่อรอฟังผลแห่งการสอบสวนหรือพิจารณาก็ได้” การกระทำอันเป็นเหตุให้สั่งพักงานตามความในข้อนี้มี 2 นัย คือทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงประการหนึ่ง หรือถูกฟ้องคดีอาญาอีกประการหนึ่ง การกระทำ 2 อย่างนี้อาจแยกจากกันโดยเด็ดขาด ข้อ 9 กล่าวว่า “ในกรณีที่มีการสั่งพักงานถ้าผลแห่งการสอบสวนหรือพิจารณาได้ความว่าผู้ถูกสั่งพักไม่ได้กระทำผิดเลย ต้องให้กลับเข้าทำงานตามเดิม โดยจ่ายค่าจ้างแรงงานระหว่างพักให้เต็มอัตราของค่าจ้างแรงงาน แต่ถ้าปรากฏว่าได้กระทำผิดจริง หรือมีมลทินมัวหมองให้ไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าจ้างแรงงานระหว่างพักงานให้เลยเว้นแต่ถ้าความผิดนั้นไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษไล่ออก ก็ให้ลงโทษสถานอื่นและจ่ายค่าจ้างแรงงานระหว่างพักไม่เกินกึ่งอัตราของค่าจ้างแรงงาน”ข้อเท็จจริงได้ความชัดว่าโจทก์ทั้ง 6 ไม่ได้กระทำผิดทางอาญา แม้ว่าโจทก์จะได้กระทำผิดทางวินัย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการสอบสวนโจทก์ตามระเบียบการฉบับที่ 7 ข้อ 7 ข้อ 9 บังคับไว้ โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้โจทก์การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเอง จะปรับให้โจทก์รับผิดในการกระทำของจำเลยไม่ได้
ข้อที่ควรยกขึ้นวินิจฉัยยังมีอีกว่า ตามระเบียบการฉบับที่ 7 ข้อ 9 ดังกล่าวนั้น จะลงโทษโจทก์สถานอื่นโดยจ่ายค่าจ้างแรงงานระหว่างพักไม่เกินกึ่งอัตราได้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตั้งประเด็นขึ้น เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยต้องเสียค่าจ้างแรงงานระหว่างพักงานเพราะความผิดของจำเลยแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิดเต็มตามประเด็นที่โต้เถียงกัน ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น