แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ประกอบกิจการผูกขาดการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์โดยรับมอบหมายจากเทศบาลนครกรุงเทพ โจทก์ตกลงกับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญาไว้ จำนวนเงินและกำหนดเวลาที่จะจ่ายก็ไม่แน่นอน โจทก์ตั้งเงินค่าตอบแทนไว้ในบัญชีเป็นเงินค้างจ่ายให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีเมื่อถูกทวงถามให้ชำระ โจทก์มีหนังสือตอบไปว่า ยังไม่อาจจ่ายให้ได้เนื่องจากผลการขาดทุนเมื่อมีฐานะการเงินมั่นคงขึ้นก็จะจ่ายให้ต่อไป อันเป็นการผัดชำระหนี้โดยไม่มีกำหนดเวลาและเทศบาลทั้งสองแห่งก็ไม่ได้ดำเนินการบังคับเอาชำระหนี้แต่อย่างใดอีก แสดงว่าโจทก์จะจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของโจทก์ฝ่ายเดียว เงินค่าตอบแทน ดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองและเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9)(13)
ค่าใช้จ่ายของโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการจ่ายตามประเพณีนิยมของการดำเนินกิจการค้านั้น ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นการให้ของขวัญ ของชำร่วย จัดช่วยเหลือในงานเลี้ยง อันมีจุดประสงค์ในการจ่ายเพื่อประโยชน์บุคคลบางคน ไม่ได้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการค้าโดยเฉพาะ โจทก์ทำการค้าตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องอาศัยบารมีหรืออิทธิพลของบุคคลอื่นใด จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)
เงินค่ารับรองซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่เกินสมควรเพราะไม่ถึงร้อยละหนึ่งของรายได้โจทก์นั้น ปรากฏว่าโจทก์จ่ายเงินแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร และบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนมากโดยไม่ปรากฏว่าบุคคลที่รับเงินไปปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการใดให้โจทก์ จึงเป็นค่ารับรองที่เกินสมควร ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประเมินเรียกเก็บค่าภาษีและเงินเพิ่มจากโจทก์ร่วมเป็นเงิน 3,444,810.75 บาท โดยปรับปรุงยอดกำไรสุทธิของโจทก์เสียใหม่อย่างไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มีรายจ่ายคือค่าตอบแทนค้างจ่ายอันเป็นข้อผูกพันที่โจทก์จะต้องจ่าย กับรายจ่ายอันเป็นการส่วนตัวและค่ารับรองตามสมควร อันเป็นความจำเป็นในประเพณีการค้า มิใช่การให้โดยเสน่หา จึงขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าค่าตอบแทนเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีที่ค้างจ่ายอยู่เป็นเงิน 9,866,524.23 บาท ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่ ได้ความว่าค่าตอบแทนดังกล่าวเกิดจากการตกลงระหว่างโจทก์กับเจ้าหน้าที่ของเทศบาล เมื่อหารือกันแล้วไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญาไว้ จำนวนเงินและกำหนดเวลาที่จะจ่ายก็ไม่แน่นอน ดังจะเห็นได้ว่าโจทก์ยังมิได้จ่ายเงินค่าตอบแทนที่ตั้งค้างจ่ายในบัญชีให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีและเมื่อมีการทวงถาม โจทก์มีหนังสือตอบว่าขณะนี้ยังไม่อาจจ่ายให้ได้ เพราะเงินสดหมุนเวียนของบริษัทโจทก์มีน้อยมากเนื่องจากผลการขาดทุน เมื่อมีฐานะการเงินมั่นคงขึ้นก็จะจ่ายให้ต่อไป เป็นการผิดชำระหนี้โดยไม่มีกำหนดเวลา แต่เทศบาลทั้งสองแห่งซึ่งโจทก์อ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องเงินค่าตอบแทนจากโจทก์ ก็หาได้ดำเนินการบังคับเอาชำระหนี้แต่อย่างใดอีกไม่ แสดงว่าโจทก์จะจ่ายค่าตอบแทนให้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของโจทก์ฝ่ายเดียว เงินค่าตอบแทนดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองและเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้ถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(9)(13) เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าค่าตอบแทนเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีซึ่งโจทก์ค้างจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2509 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2510 โจทก์มีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายและเงินค้างจ่ายตามหลักการในบัญชีสากลก็ยอมรับว่าเป็นหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องชำระให้เจ้าหนี้ จึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า รายจ่ายตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งจำเลยแยกเป็นรายจ่าย อันมีลักษระเป็นการส่วนตัว รวมเงินที่จ่าย 441,373.20 บาท เป็นรายจ่ายตามประเพณีนิยมของการดำเนินกิจการค้า โดยทั่วไปต้องมีค่าเลี้ยงดูค่ารับรองแขกในรูปต่าง ๆ เช่นช่วยซื้อบัตรชมกีฬา ของขวัญไปอวยพรวันเกิดบุคคลสำคัญในรัฐบาล เพราะโจทก์ต้องอาศัยบารมีและอิทธิพลของบุคคลต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายของโจทก์เมื่อเทียบกับรายได้แล้วไม่ถึงร้อยละหนึ่งนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์รายจ่ายประเภทนี้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการให้ของขวัญของชำร่วย จัดช่วยเหลือในงานเลี้ยง ทุกรายการมีจุดประสงค์อันเดียวกันคือจ่ายเพื่อประโยชน์บุคคลบางคน ไม่มีข้อเท็จจริงแสดงว่าจ่ายเพื่อกิจการค้าของโจทก์โดยเฉพาะ โจทก์ทำการค้าตามนโยบายของรัฐบาลมิได้ทำผิดกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องอาศัยบารมีและอิทธิพลของบุคคลอื่นใด ค่าใช้จ่ายในการไปดูงานต่างประเทศของพลตรีประยูรไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าโจทก์มอบให้ดูงานค้าสัตว์ในต่างประเทศ ค่าติดตั้งเครื่องทำความเย็นในรถยนต์นายพจน์และนายปานจิตต์ โจทก์อ้างลอย ๆ ว่าเป็นรถของโจทก์ และหากเป็นรถของโจทก์จริง โจทก์ก็ชอบที่จะลงบัญชีทรัพย์สินเป็นค่าเพิ่มทรัพย์สิน ดังที่นางอร่ามศรีเจ้าหน้าที่จำเลยเบิกความไว้ แต่โจทก์ก็หาปฏิบัติดังนั้นไม่ค่าใช้จ่ายตามเอกสารหมาย ล.4 จำนวน 441,373.20 บาท จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(3) ฎีกาโจทก์ข้อนี้ตกไปอีก
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า รายจ่ายตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งจำเลยแยกเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการในส่วนที่เกินสมควร รวมเงินที่จ่าย 3,100,542.5 บาท เป็นเงิน ค่าเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่ารับรอง และค่าปราบปรามสุกรเถื่อน ซึ่งโจทก์เหมาจ่ายเป็นรายเดือนให้แก่กรรมการ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการค้าของโจทก์ โจทก์ต้องอาศัยทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองปราบปรามสุกรเถื่อน เงินค่ารับรองนี้เมื่อเทียบกับรายได้โจทก์แล้วไม่ถึงร้อยละหนึ่ง จึงเป็นค่ารับรองที่ไม่เกินสมควรนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์รายจ่ายประเภทนี้แล้ว โจทก์จ่ายเงินแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหารและบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏว่าบุคคลที่รับเงินไปปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการใดให้โจทก์ ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยงในการปราบปรามสุกรเถื่อนและค่ารับรองตามที่สมควร จำเลยก็ได้ยอมให้โจทก์หักเป็นค่าใช้จ่ายไปแล้ว ค่าใช้จ่ายจำนวน 3,100,542.5 บาท จึงเป็นค่ารับรองในส่วนที่เกินสมควร ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(4)
พิพากษายืน