คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1775/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้มีคำพิพากษาคดีอาญาแล้วโจทก์มาฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งโดยอาศัยมูลจากคำชี้ขาดทางอาญานั้น แต่ไม่มีการอ้างอิงสำนวนคดีอาญาเป็นพยาน ดังนี้ ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีอาญาเรื่องนั้นเป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าบุตรผู้เยาว์ของจำเลยทั้ง 3 สมคบกันลักไก่โจทก์ไปรวม 20 ตัว ศาลพิพากษาลงโทษบุตรจำเลยทั้ง 3 ฐานรับของโจรจำคุก 2 เดือนแต่ให้รอการลงโทษไว้ การกระทำของบุตรจำเลยทั้ง 3เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 790 บาท ขอให้จำเลยทั้ง 3 ใช้เงินจำนวนนี้แก่โจทก์แทนบุตรของตนฐานละเมิด

จำเลยทั้ง 3 ปฏิเสธความรับผิด

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้ง 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ของบิดามารดาในการดูแลบุตรแล้ว ไม่ต้องรับผิดพิพากษายกฟ้อง ฯลฯ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้ง 3 ใช้ราคาไก่ 6 ตัวเป็นเงิน 102 บาท ร่วมกับผู้เยาว์ทั้ง 3 นั้น ฯลฯ

จำเลยทั้ง 3 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีไม่ปรากฏที่ไหนเลยว่าผู้เยาว์ได้รับของโจรไก่ของโจทก์กี่ตัวกันแน่ คงมีปรากฏจำนวนไก่เพียง 6 ตัว เท่าที่ติดตามจับได้ ซึ่งโจทก์ก็ได้รับคืนแล้ว

อนึ่ง สำนวนคดีอาญาแดงที่ 411/2498 ที่ศาลอุทธรณ์อ้างถึงว่ารับของโจรไก่ 12 ตัว ก็ไม่ปรากฏว่าคู่ความฝ่ายใดได้อ้างสำนวนคดีอาญาดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้เรียกสำนวนคดีอาญาเรื่องนี้มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด แม้ว่าศาลชั้นต้นจะได้ส่งสำนวนคดีอาญานั้นรวมขึ้นมาอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตามก็ถือว่าเป็นเอกสารนอกสำนวน มิใช่หลักฐานในคดีเรื่องนี้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาข้อเท็จจริงนอกสำนวนขึ้นมา กล่าวอ้างในคำพิพากษาว่า บุตรจำเลยได้รับของโจรไก่โจทก์ไว้ 12 ตัวดังที่ปรากฏในสำนวนคดีอาญาแดงที่ 411/2498 จึงไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87

พิพากษายืน

Share