คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เอกสารที่ใช้ประกอบเป็นรายงานการเดินทางไปราชการได้แก่ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินที่แสดงว่าได้จ่ายเงินไปจริงโดยมีหลักฐานการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ข้าราชการผู้นั้นเซ็นชื่อรับเงินไว้ด้วยเพื่อเบิกเงินจากส่วนราชการไปจ่ายให้และเอกสารการรับเงินที่ส่งไปล้างฎีกาเพื่อแสดงว่าได้มีการจ่ายเงินไปถูกต้องแล้วนั้นเป็นหลักฐานแห่งการก่อและระงับสิทธิในเงินค่าใช้จ่ายไปราชการซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นและรับรองในหน้าที่จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา1(8)และ(9) จำเลยที่2เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานทั่วไปและช่วยควบคุมการจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตปลอมเอกสารดังกล่าวเพื่อขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการในสังกัดจำนวนหลายคนด้วยกันจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264,266(1),268ประกอบมาตรา157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการประจำสำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอเมืองปาน อันเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งหัวหน้าการประถมศึกษา มีหน้าที่ควบคุมและดูแลราชการของสำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอเมืองปาน กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการประจำสำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอเมืองปาน อันเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษา มีหน้าที่ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษากิ่งอำเภอเมืองปาน ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานทั่วไป ช่วยควบคุมการจ่ายเงินและวัสดุให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ได้ร่วมกันทำปลอมทั้งฉบับหรือแต่บางส่วนซึ่งเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการในเอกสารขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน เพื่อประกอบรายงานการเดินทางไปราชการอันเป็นเอกสารราชการแห่งการเปลี่ยนแปลงโอน สงวน และระงับซึ่งสิทธิอันเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นข้าราชการครูโรงเรียนบ้านแพะ สังกัดสำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอเมืองปาน อันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับผิดชอบการพิจารณาและตรวจสอบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทุกหมวดได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยรับรองเป็นหลักฐานในเอกสารการรับเงิน (แบบ บก.กจ.9) ว่าจำเลยที่ 3ได้จ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นไป และบุคคลนั้นได้รับเงินและลงชื่อไว้ต่อหน้าจำเลยที่ 3แล้ว ซึ่งเป็นความเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,162, 264, 266, 268, 83, 90
จำเลย ทั้ง สาม ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266 (ที่ถูกควรเป็น 266(1)), 268และ 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 และ 157 ลงโทษฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้จำคุก 1 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ประกอบกับจำเลยที่ 3ชดใช้ค่าเสียหายแก่สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดลำปางแล้วทั้งจำเลยที่ 3 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ระหว่างเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษากิ่งอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปางมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานทั่วไป และช่วยควบคุมการจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้า และมีจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่รับผิดชอบการพิจารณาตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานการประถมศึกษาดังกล่าวระหว่างนั้นได้มีการทำรายงานการเดินทางไปราชการ หลักฐานการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการครูสังกัดสำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปางรวมเป็นเงิน 42,690 บาท ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลอาญา) โดยจำเลยที่ 1 นายสวัสดิ์ มีคุณ และนายปรีชา ภู่ไพจิตร ซึ่งเป็นกรรมการรับเงินได้รับเงินดังกล่าวไปจากสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดลำปางแล้ว และทางสำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอเมืองปานได้ส่งหลักฐานการรับเงินค่าเบี้ยเลี้ยง โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ่ายตามเอกสารหมาย จ.9 ไปยังสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดลำปางล้างฎีกาเพื่อแสดงว่ามีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ได้ขอเบิกตามเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลอาญา) เรียบร้อยแล้ว
คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้องปัญหาว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารราชการหรือไม่จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในปัญหานี้เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน คดีจึงมีปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2ไม่อาจหักล้างได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ได้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหมาย ป.จ.1 (ศาลอาญา)และหมาย จ.9 เบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการรวมเป็นเงิน42,690 บาท เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลอาญา) เป็นรายงานการเดินทางไปราชการซึ่งประกอบด้วยใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินที่แสดงว่าได้จ่ายเงินไปจริงโดยมีหลักฐานการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ข้าราชการผู้นั้นเซ็นชื่อรับเงินไว้ด้วย เพื่อเบิกเงินจากส่วนราชการไปจ่ายให้ และเอกสารหมาย จ.9 เป็นเอกสารการรับเงินที่ส่งไปล้างฎีกาเพื่อแสดงว่าได้มีการจ่ายเงินไปถูกต้องแล้ว เอกสารดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการก่อและระงับสิทธิในเงินค่าใช้จ่ายไปราชการซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นและรับรองในหน้าที่จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ จำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินกลับใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตปลอมเอกสารขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการในสังกัดจำนวนหลายคนด้วยกันและโทษจำคุกที่ศาลล่างลงมาเป็นโทษขั้นต่ำสุดของโทษที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 มากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share